luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น   (Read: 11734 times - Reply: 7 comments)   
Aimee2500

Posts: 44 topics
Joined: 14/12/2552

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
« Thread Started on 30/8/2554 23:17:00 IP : 86.174.33.209 »
 

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น

เรียนรู้จากชีวิตพระ

เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และหยูกยา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

จะเห็นได้จากข้อปฏิบัติของพระว่า ท่านเริ่มศึกษาตั้งแต่การรู้จักบริโภคปัจจัย ๔ ซึ่งท่านถือเป็นศีลด้วย บางคนอาจจะไม่ได้นึกว่าการรู้จักบริโภคอาหารก็เป็นศีล

การฉันอาหารที่ว่าเป็นศีล หมายถึงการฉันหรือบริโภคโดยพิจารณาว่าบริโภคเพื่ออะไรเป็นต้น เรียกง่าย ๆ ว่า บริโภคด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้เป็นการบริโภคที่พอดี หรือกินพอดี ภาษาพระเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค)

อีกเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก คืออินทรีย์สังวร ได้แก่การรู้จักใช้อินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ จัดเป็นการศึกษาเบื้องต้น อยู่ในขั้นศีล และเป็นศีลเบื้องต้นยิ่งกว่าศีล ๕ อีก

เรามักจะมองกันแค่ศีล ๕ ที่จริง อินทรียสังวรและโภชเนมัตตัญญุตาที่เป็นศีลเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก

พระเณรพอบวชเข้ามาก็เริ่มด้วยอินทรียสังวร ให้สำรวมอินทรีย์ว่า เวลารับรู้ ดู ฟัง เห็นอะไรต่าง ๆ ก็ให้เป็นไปโดยมีสติ แล้วก็ตามมาด้วยปัญญา ให้ได้ความรู้ ไม่ให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ให้ได้แต่กุศล พูดง่าย ๆ ว่ารับรู้ด้วยสติ มิให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำจิตใจ แค่นี้ก็ใช้ได้

หลักอีกอย่างหนึ่งที่มาสนับสนุน ท่านเรียกว่า สันโดษ หมายถึงความพอใจในปัจจัย ๔ คือ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) และเภสัชบริขาร (หยูกยา) ตามมีตามได้ มีฉันมีใช้ พอให้อยู่ได้ พอให้สนองความต้องการของชีวิต

เมื่อมีปัจจัย ๔ พอเป็นอยู่ได้แล้ว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับการเสพบริโภค ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิด ไปอุทิศให้แก่การศึกษาพัฒนาชีวิต การทำกิจหน้าที่การงานและการเพียรสร้างสรรค์กุศลธรรมหรือสิ่งที่ดีงามให้ เต็มที่ ทำอย่างนี้เรียกว่า “ สันโดษ ”

การฝึกฝนพัฒนาตนเกี่ยวกับปัจจัย ๔ นั้น มีสาระที่พึงปฏิบัติตามหลักอินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และสันโดษ

การฝึกหรือศึกษาในหลักธรรมเหล่านี้ มิใช่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่ควรปฏิบัติ แม้แต่คฤหัสถ์ คือชาวบ้านทั้งหลาย ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราเจริญงอกงามอย่างถูกต้อง

 

 

ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ

เราอยู่ในโลก ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ได้ต้องมีการสื่อสารกับโลกภายนอก สิ่งที่ช่วยสื่อสาร หรือเครื่องมือสื่อสารก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ถ้าเราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราก็กลับเป็นทางมาของโทษ ความเสียหาย ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ที่ว่าใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็น ก็คือใช้ด้วยโมหะ ใช้ด้วยสักแต่ว่าความรู้สึก ดูก็ไม่เป็น ฟังก็ไม่เป็น ดูแล้วก็เกิดโทษ เกิดปัญหาแก่ชีวิต ทำให้เกิดความลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา โลภะ โทสะ โมหะยิ่งเฟื่องฟู เช่น อยากดูทีวีก็ดูไม่เป็น ดูแล้วแทนที่จะได้ความรู้ กลับได้แต่ความลุ่มหลง ความเอะอะโวยวาย เสียสุขภาพกาย เสียงาน เสียการศึกษาเล่าเรียน

แต่ถ้าดูเป็นก็จะได้ความรู้ คือรู้จักเลือกดูรายการที่ดี ๆ มีประโยชน์ หรือว่าแม้รายการจะไม่ดี แต่รู้จักดูก็ได้ความรู้ ได้คติ เพราะรู้จักแยกแยะจับเอาประโยชน์มาใช้ได้

ถ้าดูเป็น การศึกษาก็เริ่มต้น เพราะการศึกษาเริ่มต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ ก็แสดงว่าการศึกษาพลาด การศึกษาปัจจุบันนี้น่าจะพลาด เพราะไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้

เพราะฉะนั้นจึงต้องมาพูดกันในเรื่อง อินทรียสังวร คือ การสำรวม รู้จักใช้อินทรีย์ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

การศึกษาพื้นฐาน คือเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ กับเรื่องการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ จะต้องให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าได้จุดนี้แล้ว การศึกษาก็เริ่มเดินหน้า

เพราะฉะนั้นหลักเบื้องต้นในการฝึกอบรมพระใหม่จึงเน้นที่นี่ แล้วต่อไปก็ต้องใช้ตลอด

ในเรื่องอินทรียสังวรนี้ เพื่อเป็นการฝึก โบราณได้จัดออกมาเป็นกิริยาอาการในการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น

ตานี่โผล่ก่อนเขา เพื่อให้มีการฝึก ท่านก็เอารูปแบบมาช่วย คือให้พระฝึก เวลาเดินตาไม่สอดส่าย ไม่เที่ยวหันดูโน่นดูนี่ และให้ดูพอประมาณ ทอดสายตาในขนาดที่พอใช้กิจ คือพอให้การเดินของตัวไปได้ถูกต้อง อาการสำรวมอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นความเป็นอยู่ของพระไป

การปฏิบัติอย่างที่ว่านั่น เป็นการเอารูปแบบมาช่วย คือเอาอาการกิริยามาช่วยในการฝึก แต่ต้องรู้ว่าสาระที่แท้จริงคือท่านต้องการให้เราฝึกสติ ต้องเอาสติมาคุมไม่ให้อกุศลธรรม ความรู้สึกที่ไม่ดีเข้ามาครอบงำ

ให้รับรู้ด้วยสติและเกิดปัญญา แล้วได้ประโยชน์ คือดูแล้ว ฟังแล้ว ให้ได้ความรู้และความดี

บางคนดูอะไรแล้วได้แต่สนุกตื่นเต้นผ่านไปเปล่า ๆ ไม่ได้อะไรเลย ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีการศึกษา

ถ้าเข้าโรงเรียนแล้วยังไม่รู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น ก็คือไม่มีการศึกษา เพราะยังไม่ได้เริ่มการศึกษาเลย เพราะฉะนั้น ต้องถามตัวเองว่า

•  ดูแล้วได้ความรู้ไหม? ได้ความรู้คือได้ปัญญาหรือเดินหน้าไปในการที่จะเข้าถึงความจริง เราต้องมีความรู้จึงจะดำเนินชีวิตและทำกิจการต่าง ๆ ได้สำเร็จ และจึงจะแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นดูแล้วต้องได้ข้อมูล ได้ความรู้ เกิดความเข้าใจ ก้าวไปหาความจริง

•  ดูแล้วได้ประโยชน์ไหม? ได้ประโยชน์คือสามารถเอามาพัฒนาชีวิตและทำการสร้างสรรค์ต่าง ๆ คือดูแล้วได้ตัวอย่างที่ดี ได้แง่มุมความคิด ได้คติ ที่จะเอามาใช้ประโยชน์

ถ้าได้ ๒ อย่างนี้ ก็แสดงว่าได้ปัญญาทั้งคู่ คือปัญญาที่เอาความรู้ และปัญญาที่เอาประโยชน์ได้

ฟังก็เช่นเดียวกัน ทั้งดูและฟังนี้ต้องฝึกต้องหัดกันตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ดูทีวีเป็นไหม ฟังวิทยุเป็นไหม ได้ความรู้และได้ประโยชน์อะไรบ้างจากสิ่งเหล่านั้น อย่าเป็นเพียงนักเสพที่ได้แค่สนุกสนานเพลิดเพลินผ่าน ๆ ไป

เดี๋ยวนี้เราได้นักเสพมากกว่านักศึกษา ทั้งที่เป็นเพียงนักเสพ แต่เรียกตัวเป็นนักศึกษา

ถ้าไม่ได้เป็นนักศึกษาจริง ก็ควรบอกมาว่าฉันเป็นแค่นักเสพ เรื่องนี้ต้องแยกให้ดี มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายมาก

ยุคนี้มีสภาพอย่างที่ว่านั้น การที่เรียกยุคของพวกเราว่าเป็น “ บริโภคนิยม ” ก็ชัด คือ นิยมบริโภค หมายความว่าเห็นแก่กิน ก็คือเป็นนักเสพนั่นแหละ

เมื่อเป็นนักเสพแล้วจะไปเรียกเป็นนักศึกษาได้อย่างไร นักเสพกับนักศึกษานั้นคนละพวก ถ้าเป็นนักเสพก็ไม่ใช่นักศึกษา

ถ้าเป็นนักศึกษาก็ต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเรียนรู้ คือใช้หาปัญญา และหาทางสร้างสรรค์ประโยชน์

เวลานี้ ทั้งที่ใช้ตา หู เพียงแค่หาสิ่งบำรุงบำเรอ ก็เรียกกันไปว่านักศึกษา ปรากฎว่าได้สัมผัสเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ต่าง ๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น มากมาย แต่ไม่เคยศึกษาเลย ได้แต่เสพอย่างเดียว

ขอย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญมาก อินทรียสังวรนี้เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เป็นนักศึกษา คือเป็นนักเรียน นักรู้ หมายความว่าใช้ตาดู หูฟัง เป็นต้น หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทุกอย่าง ต้องได้ปัญญาที่เกิดความรู้ และเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้

 

กินเปลือง ไม่ใช่กินเป็น

ในการฝึกเบื้องต้น พอพระเณรบวชเข้ามา ก็เริ่มฝึกการบริโภคปัจจัย ๔ ทันที

สำหรับพระเณรนั้นมีหลักอยู่แล้วว่า ให้เป็นอยู่ง่าย อาศัยปัจจัย ๔ พอเลี้ยงชีพ ต้องให้บริโภคคือฉันด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงมีบทพิจารณาให้ท่อง

ก่อนจะบวชก็ให้ท่องบท ตังขณิกปัจจเวกขณะ คือพิจารณาในขณะนั้น ๆ เช่น เวลาจะฉัน ก็พิจารณาอาหารเพื่อให้มีสติ คือฉันโดยรู้ตัวว่า ที่ฉันนี้เพื่อสนองความต้องการที่แท้จริงของชีวิตนะ ไม่ใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย โก้เก๋

อนึ่ง เพื่อเตือนสติไว้เสมอ ๆ ท่านนิยมทำให้รู้สึกว่าเอาจริงเอาจัง โดยสวดบทพิจารณานั้นในเวลาจะเริ่มฉัน

ในบรรดาบทสวดมนต์ทั้งหลายนั้น มีบทหนึ่งที่ถือว่าสำคัญสำหรับพระเณร เรียกกันว่าบท “ ปฏิสังขาโย ” คือเรียกตามคำเริ่มต้นของบทสวดนั้น

บทปฏิสังขาโยนี่แหละภาษาทางการเรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณะ คือบทที่พูดถึงเมื่อกี้

ปัจจเวกขณ์ แปลว่าการพิจารณา ตังขณิกะ แปลว่า ในขณะนั้น ๆ พิจารณาในขณะนั้น ๆ หมายถึง พิจารณาปัจจัย ๔ ในขณะที่บริโภคนั่นเอง

ถ้าพิจารณาตอนที่ฉัน ก็เป็นการพิจารณาในขณะนั้น ๆ จึงเรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณะ แต่ในกรณีที่บางทีเผลอไป ก็พิจารณาย้อนหลังเป็นการทบทวนและเตือนตนเอง เรียกว่า อดีตปัจจเวกขณะ คือเปลี่ยนตังขณิกะเป็นอตีตะ แปลว่าการพิจารณาส่วนอดีต คือส่วนที่ล่วงไปแล้ว

การพิจารณาตอนเป็นอดีตนี่ ก็นิยมเอามาจัดเป็นบทสวดมนต์เช่นเดียวกัน บางวัด เวลาค่ำก็สวดบทอตีตปัจจเวกขณะนี้ด้วย

การพิจารณาปัจจัย ๔ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนต้องเกี่ยวเนื่องด้วยปัจจัย ๔ ท่านจึงสอนให้บริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ด้วยพิจารณา คือบริโภคด้วยปัญญา ไม่บริโภคด้วยตัณหา

บริโภคด้วยปัญญาต่างกับบริโภคด้วยตัณหาอย่างไร

บริโภคด้วยตัณหา ก็คือ บริโภคเพื่อเสพรส เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อย คือสนองความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ เอาแค่ความสุขจากการเสพ ที่ว่าสุขในเรื่องของอาหาร ก็คืออร่อยเป็นการสนองตัณหาซึ่งอยากบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย

ถ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มก็มุ่งความสวยงาม ความโก้เก๋ ตลอดจนประกวดประชันแข่งฐานะกัน เอาอาหาร เอาเครื่องนุ่งห่ม เอาที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องอวดแสดงฐานะ

การทำอย่างนี้ไม่เป็นการสนองความต้องการที่แท้จริงของชีวิต พูดภาษาสมัยใหม่ว่ามันไม่ได้เป็นเครื่องแสดงการมีคุณภาพชีวิต

บางคนมีฐานะเศรษฐกิจดี มีอาหารการกินอย่างดี ที่เรียกว่ามีมาตรฐานการครอบชีพสูง แต่กินอาหารแล้วไม่ได้คุณภาพชีวิต เลยกลายเป็นว่ามาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย เป็นการกินที่ไม่ฉลาด

สมัยก่อนนั้น คนมุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานการครองชีพมาก อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า standard of living คนพากันอยากมีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่ต่อมายุคหลังเกิดมีคำใหม่เรียกว่า quality of life แปลว่าคุณภาพชีวิต การมีมาตรฐานการครองชีพสูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นจึงต้องมาวัดกันใหม่ว่าชีวิตดีอยู่ที่อะไร ก็เลยได้ศัพท์ใหม่ว่า “ คุณภาพชีวิต ” แล้วหันมาเน้นกันที่นี่

บางคนกินอาหารแพง ๆ เป็นอยู่อย่างดี มีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่เป็นโรคภัยไข้เจ็บเยอะ เพราะดำเนินชีวิตผิด เป็นอยู่ผิดธรรมชาติ เกิดเป็นโรค อย่างที่บางทีเรียกว่าโรคอารยธรรม ดังปรากฏว่าประเทศที่เจริญแล้วมักจะมีโรคเหล่านี้มาก เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งประเทศที่ยากจนกลับไม่ค่อยเป็น

ที่เป็นอย่างนี้เพราะเขาได้แค่กินเปลือง แต่กินไม่เป็น

เพราะฉะนั้น การที่ประเทศเจริญแบบนี้จึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้คนมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของคุณภาพชีวิต

 

กินอย่างมีปัญญา เรียกว่ากินเป็น

หันมาดูตัวอย่างจากชีวิตของพระสงฆ์ ที่ท่านนำหลักธรรมมาปฏิบัติ

พระเก่า ๆ ก่อนฉันท่านจะว่าบทพิจารณาอาหารเตือนสติไว้ก่อน ความจริงนั้น สติต้องเป็นไปในเวลาฉันตลอดเวลา ไม่ใช่มีแค่ตอนเริ่ม แต่ที่เราว่าหรือสวดออกมาก่อน ก็เพื่อจะเตือนตัวเอง ให้มีสติตั้งใจพิจารณาตั้งแต่ตอนเริ่มฉัน โดยเอาคำบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาว่าตอนนั้นเลย คือว่าคำพิจารณาอาหารดังนี้

ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย คือพิจารณาโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว คำนึงถึงเหตุผลแล้ว จึงฉันอาหารบิณฑบาต

เนวะ ทะวายะ นะ มะทายะ นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ (โดยรู้ตระหนักว่า) มิใช่เพื่อจะสนุกสนานเห็นแก่เอร็ดอร่อย หลงมัวเมา สวยงาม โอ่อ่า โก้เก๋

ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ ที่ฉันนี้ก็เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ใช้ชีวิตดำเนินไปได้

วิหิงสุปะระติยา เพื่อระงับความหิวกระหายหรือการขาดอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่บีบคั้นเบียดเบียนร่างกาย พรัหมจริยานุคคหายะ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจริยะ คือเพื่อเกื้อหนุนชีวิตดีที่ประเสริฐ

ตรงนี้มาถึงจุดสำคัญ เพราะชีวิตของพระก็เพื่อประพฤติพรหมจริยะ คือดำเนินตามอริยมรรค พรหมจริยะหรือพรหมจรรย์ในที่นี้มีความหมายกว้าง

ถ้าจะป้องกันความสับสนก็พูดว่า เพื่อเกื้อหนุนการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘ รวมทั้งการบำเพ็ญไตรสิกขา คือเพื่อเราจะได้มีกำลังทำกิจหน้าที่ ฝึกฝนพัฒนาชีวิตที่ดีงามของเรา

สาระสำคัญก็คือ ให้การรับประทานอาหารเป็นเครื่องเกื้อหนุน ช่วยให้เรามีเรี่ยวแรงกำลัง เพื่อเราจะได้ทำกิจทำหน้าที่ ศึกษาเล่าเรียน ทำงานทำการ บำเพ็ญสมณธรรม บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ได้ผล

พูดสั้น ๆ ว่า บริโภคอาหารเพื่อเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราดำเนินชีวิตที่ดี พัฒนาตนเอง และทำสิ่งที่ดีงามได้ยิ่งขึ้นไป

อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะติหังขามิ นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ โดยการรับประทานด้วยปัญญาอย่างนี้ เราจะระงับเวทนาเก่า คือแก้ความทุกข์ร้อนกระวนกระวายเนื่องจากความหิวได้ กับทั้งจะไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ เช่น ไม่อึดอัด แน่น จุกเสียด ท้องเสีย เป็นต้น เนื่องจากรับประทานมากเกินไป หรือกินของไม่ดี มีพิษ

ยาตรา จะ เม ภะ วิสสะติ และเราก็จะมีชีวิตดำเนินไปได้

อะนะวัชชะตา จะ พร้อมทั้งจะเป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากข้อเสียหาย

หมายความว่า ไม่มีโทษภัย ไร้ข้อบกพร่องเสียหายที่จะพึงตำหนิติเตียนได้ เช่น ไม่ต้องทำการแสวงหาโดยทางทุจริตผิดธรรม ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสังคม ไม่เบียดเบียนธรรมชาติแวดล้อม ไม่เบียดเบียนทั้งภายในและภายนอก

ผาสุวิหาโร จาติ แล้วก็เป็นอยู่ผาสุกด้วย

นี่เป็นวัตถุประสงค์ของการรับประทานอาหาร ซึ่งพระจะต้องพิจารณาทุกครั้งในเวลาฉัน เพื่อให้เข้าใจและรักษาวัตถุประสงค์ของการฉันให้ถูกต้อง ตรงตามคุณค่าที่แท้ของอาหาร

นี่แหละเป็นศีลเบื้องต้นของพระ ซึ่งท่านให้ฝึกกันตั้งแต่มาอยู่วัด โดยให้ท่องบทพิจารณาไว้ แล้วเวลาฉันก็พิจารณาอย่างนี้

ถ้าเรากินด้วยปัญญาแล้ว ความรู้เข้าใจจุดมุ่งหมายในการกินก็จะมา

•  จำกัดปริมาณอาหาร ให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย

•  จำกัดประเภทอาหาร ให้พอดีที่จะได้สิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ และได้สัดส่วน

พอถึงตอนนี้ การกินพอดีก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการกินด้วยปัญญาจึงมีชื่อว่าการกินพอดี เรียกเป็นภาษาพระว่าความรู้จักประมาณในการบริโภค ภาษาบาลีว่า “ โภชเนมัตตัญญุตา ”

หลักนี้สำคัญมาก ผู้ที่บวชเข้ามาเบื้องต้นจะต้องฝึกในเรื่องโภชเนมัตตัญญุตา ให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งจะมีผลดีต่อชีวิตของตนเอง เป็นการฝึกในขั้นศีล คือเป็นการฝึกพฤติกรรมในการฉัน ในการรับประทาน หรือในการบริโภค แล้วก็ขยายไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เรากินใช้บริโภคทั้งหมด เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็พิจารณาทำนองเดียวกัน พระสมัยก่อนนั้น เวลาจะฉันข้าว ก็ตักข้าวขึ้นมาช้อนหนึ่งเป็นตัวอย่างเพื่อเริ่มพิจารณา แล้วก็ฉันข้าวเปล่า ๆ ไปช้อนหนึ่งก่อน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการปฏิบัติกัน เพราะท่านที่ทำมาตั้งแต่เป็นเณรก็เคยชิน

ส่วนจีวรจะหยิบมาห่มก็พิจารณา ปฏิสังขา โยนิโสจีวรัง ปฏิเสวามิ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย คือพิจารณาเหตุผล มองเห็นคุณค่าที่แท้ และเข้าใจความมุ่งหมายดีแล้ว จึงใช้สอยห่มจีวรนี้เพื่อจะได้กันหนาว กันร้อน กันเหลือบ ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ตลอดจนป้องกันความละอาย

นี่ก็คือให้เข้าใจความมุ่งหมายของการใช้เครื่องนุ่งห่ม ว่าจะเอาคุณค่าที่แท้จริงของมัน ทำให้ต้องฝึกปัญญาหัดนึกคิดพิจารณาว่า เอ.. เราห่มจีวรนี้ เพื่ออะไรกันแน่ อ้อ.. จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือเพื่ออย่างนี้ ๆ

แต่เวลาใช้มัน เราได้ผลตามวัตถุประสงค์นี้หรือเปล่า หรือใช้เสื้อผ้าเป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่ง มุ่งจะเอาสวยงาม โก้เก๋ อวดฐานะกัน ทำให้ใช้ของราคาแพงเกินไป ฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โดยไม่ได้คุณค่าที่แท้จริง เพราะบางทีของที่ราคาแพงกลับไม่มีคุณค่าที่แท้จริงเลย เป็นการใช้มันอย่างลุ่มหลง ไม่มีปัญญา

ต้องยอมรับว่าคนสมัยนี้ยังหลงมาก เราพูดกันไปเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ว่าเรามีการศึกษา แต่เราไม่ได้ใช้ปัญญา แม้แต่ในการปฏิบัติต่อปัจจัย ๔ เราบริโภคด้วยความหลง ด้วยตัณหา ด้วยอวิชชา กินใช้ด้วยความไม่รู้ ไม่คิด แล้วลองคิดดูซิว่า การศึกษาจะเดินหน้าไปได้อย่างไร เพราะแม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย

สำหรับมนุษย์ปุถุชนอย่างชาวบ้าน เรายอมให้บ้างในเรื่องความเอร็ดอร่อย สวยงาม โก้เก๋ แต่ควรจะมีหลักว่า

•  ต้องให้ได้คุณค่าที่แท้จริงเป็นฐานไว้ก่อน อย่าให้เสียอันนี้เด็ดขาด ถ้าเสียก็คือดำเนินชีวิตผิด ไม่มีการศึกษา

•  ส่วนที่มาประกอบเสริมในด้านคุณค่าเทียม เช่น ความอร่อย สวยงาม โก้เก๋นั้น อย่าให้เลยเถิดไปจนกลายเป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ตรงนี้สำคัญมาก

•  อย่าให้เบียดเบียนตน เช่น รับประทานอาหารแล้วทำให้สุขภาพร่างกายเสียไป เพราะเห็นแก่คุณค่าเทียม เช่นเห็นแก่เอร็ดอร่อย โก้เก๋ เลยกินจนอืดเฟ้อ หรือกินอาหารที่เป็นพิษ

•  อย่าให้เบียดเบียนผู้อื่น เช่น ทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะแย่งชิงเอาเปรียบกัน หรือเอาจากผู้อื่นมากโดยใช่เหตุ

•  อย่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ไม่ใช่ว่ากินก็เปลือง ขยะก็เปรอะ


 

     

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
จำนวนข้อความทั้งหมด:  2
1
แสดงความคิดเห็น
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 31/8/2554 8:15:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
 
Aimee2500 Talk:

...

เรามักจะมองกันแค่ศีล ๕ ที่จริง อินทรียสังวรและโภชเนมัตตัญญุตาที่เป็นศีลเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก

...บทปฏิสังขาโยนี่แหละภาษาทางการเรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณะ ...

ปัจจเวกขณ์ แปลว่าการพิจารณา ตังขณิกะ แปลว่า ในขณะนั้น ๆ พิจารณาในขณะนั้น ๆ หมายถึง พิจารณาปัจจัย ๔ ในขณะที่บริโภคนั่นเอง

ถ้าพิจารณาตอนที่ฉัน ก็เป็นการพิจารณาในขณะนั้น ๆ จึงเรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณะ แต่ในกรณีที่บางทีเผลอไป ก็พิจารณาย้อนหลังเป็นการทบทวนและเตือนตนเอง เรียกว่า อดีตปัจจเวกขณะ คือเปลี่ยนตังขณิกะเป็นอตีตะ แปลว่าการพิจารณาส่วนอดีต คือส่วนที่ล่วงไปแล้ว ...     



อนุโมทนาที่นำบทความธรรมะดี ๆ มาเผยแพร่ ทำให้ได้ความรู้มากเลยครับ (ดูจากสำนวนและเนื้อหาน่าจะเป็นของพระพรหมคุณาภรณ์ใช่ไหมครับ)

โดยทั่วไปเวลาพูดถึงศีล ก็จะนึกเพียงศีล ๕ ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมากกว่านั้น กล่าวคือการสำรวมตาหูฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของศีล  การประมาณในการกินอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของศีล

ศีลจึงครอบคลุมเรื่องความประพฤติและการกินอยู่ที่พอเหมาะพอดีที่จะเอื้อต่อการเจริญสมาธิและปัญญา

ความหมายของบทตังขณิกะปัจจเวก เทียบกับบทอตีตะปัจจเวก ท่านอธิบายไว้ชัดเจนมากครับ

ท่านชยสาโรเคยปรารภว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยจริง ๆ ที่มีพระผู้ใหญ่อย่างพระพรหมคุณาภรณ์

พระพรหมคุณภรณ์ท่านเป็นปราชญ์ที่หาได้ยาก และได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปฏิบัติในคราบนักวิชาการ ในกุฏิท่านไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย นอกจากพัดลมเก่า ๆ ที่ท่านประดิษฐ์ตัวบังคับความแรงของพัดลมเอง

ท่านคือผู้รักษาพระไตรปิฎกตัวจริง ใครมาบิดเบือนหรือสร้างความวิปริตต่อพระธรรม ท่านต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้ความรู้ว่าที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยนั้นเป็นอย่างไร

และด้วยเหตุนี้เอง บทความบางเรื่องของท่านจึงไปกระทบสำนักปฏิบัติใหญ่ ๆ ที่ชอบตีความพระไตรปิฎกตามชอบใจ (เพื่อให้เข้ากับหลักการสอนของสำนักตน) หรือพยายามเอาพระไตรปิฎกฉบับที่แต่งขึ้นมาภายหลัง เช่น ของทางมหายาน มาลบล้างพระไตรปิฎกบาลีเดิม หรือสื่อสารให้ผู้ไม่รู้สับสนเสียหลัก เพื่อให้คล้อยตามกับทัศนะของสำนักนั้นๆ 

หลายปีที่ผ่านมา บางสำนักถึงกับรวมกลุ่มนักวิชาการสานุศิษย์ของเขา เขียนบทความในนามสมมติที่ไม่มีตัวตนเช่น ดร. .... (ซึ่งไม่มีตัวตนในทะเบียนราษฎร์) เพื่อ discredit พระพรหมคุณาภรณ์ด้วย ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ นับเป็นการกระทำที่น่าละอายและไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา

ผมมาพิจารณาถึงมงคลสูตรข้อต้น ๆ ที่ว่า ไม่คบคนพาล ให้คบบัณฑิต ก็อดนึกต่อไปไม่ได้ว่า ถ้าเบื้องต้น หากแยกแยะไม่ได้ว่าใครเป็นพาล ใครเป็นบัณฑิต ก็จบกัน สอบตกตั้งแต่ต้น แล้วต่อไปจะก้าวเดินให้ถูกต้องได้อย่างไร

บางสำนักชูโรง สอนเรื่องมงคลสูตรเป็นหลักมานับสิบ ๆ ปี แต่ท่านกลับพาสานุศิษย์คบคนพาล (คบคนที่ต้องการล้มเจ้า) และโน้มน้าวให้สานุศิษย์เกลียดชังพระผู้เป็นบัณฑิต ด้วยเหตุที่บัณฑิต (แท้) ผู้นั้น ไม่รับสินบนแถมยังมีบทความที่ขัดกับหลักคำสอนของสำนักตน

บางสำนักก็ยึดพระไตรปิฎกฉบับแปล (ซึ่งเป็นฉบับที่ไม่สมบูรณ์) มาเป็นหลัก พอพระพรหมคุณาภรณ์เตือนไป ก็ถูกโต้กลับพร้อมกับการ discredit ท่านอีก ซึ่งเป็นวิธีอย่างนักการเมืองที่ไม่ดีเขานิยมทำกัน

น่าเห็นใจท่านจริง ๆ เพียงเพื่อจะรักษาพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์ ทำให้ท่านต้องรับมือเจ้าลัทธิต่าง ๆ ในปัจจุบันตั้งมากมายเพียงลำพังองค์เดียว 

ถึงเวลาจริง ๆ คำว่าเปรียญธรรม ๙ ประโยค ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากจิตนั้นตั้งอยู่บนอคติ ที่พร้อมจะคล้อยตามอาจารย์ตนยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า

น่าอนาถใจทั้งวงการการเมืองและวงการวัดวา

นี้คงใกล้จะเป็นดังสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ว่า น้ำกลางสระขุ่น แต่ขอบสระใส ซึ่งพระพุทธเจ้าพยากรณ์ความหมายว่า คนชั่วจะครองเมือง คนมีศีลมีธรรมต้องหนีไปอยู่ในชนบทในป่าเขา

พระพุทธองค์ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัท ๔ ซึ่งปัจจุบันก็เหลือเพียงพุทธบริษัท ๓ คือ พระภิกษุ อุบาสก และอุบาสิกา

การจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ตัวพุทธบริษัท ๓ ก็ต้องเข้าใจคำสอนที่ถูกต้อง ต้องเลือกกัลยาณมิตรคือครูอาจารย์ที่ถูก ก่อนที่จะไปช่วยสนับสนุนทางด้านเผยแพร่ หากไม่มีความรู้แล้วไปช่วยเผยแพร่ ดีไม่ดี ก็จะเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ ทำพระธรรมและพระวินัยให้มัวหมอง ทำอายุพระพุทธศาสนาให้สั้นเข้า แต่เจ้าตัวก็ยังภูมิใจอยู่ว่ากำลังทำบุญใหญ่! 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 2  « on 2/9/2554 12:42:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
 

หลานเอมี่ครับ

ดีมากครับ สำหรับเนื้อหาคำชื่นชมที่มีในพระพรหมคุณาภรณ์ แต่ยังดีกว่านี้ได้อีก

เช่น คำชื่นของ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต,  ศจ. นพ. ประเวศ วสี, สมเด็จพระสังฆราช ฯลฯ เป็นต้น เพราะฉะนั้น หาต่อไป ๆ

ทำดี มีรางวัล --> ให้ไปรับรางวัลจากลุงเมธานะ    

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 11 Visits: 16,614,450 Today: 6,032 PageView/Month: 85,911