luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   วิทยานิพนธ์ของชีวิต  (Read: 23673 times - Reply: 16 comments)   
เด็กข้างวัด

Posts: 23 topics
Joined: 18/1/2553

วิทยานิพนธ์ของชีวิต
« Thread Started on 11/9/2554 17:34:00 IP : 180.183.56.23 »
 

สาขา                                    วิทยาศาสตร์
                                            (เพราะมีเหตุผล และสามารถพิสูจน์ได้)
 
วัตถุประสงค์                          เพื่อความพ้นทุกข์
 
อุปกรณ์                                 กาย กับ จิต
 
กรอบการวิจัย                        ไตรลักษณ์ และความไม่ประมาท
 
คำสอน                                  อริยสัจ 4
                                                       - ทุกข์
                                                       - เหตุทำให้เกิดทุกข์
                                                       - ความดับทุกข์
                                                       - ทางพ้นทุกข์
 
เรื่องที่ควรเชื่อ                  *กรรมและผลของกรรม
                                         *ความอยากในกาม
                                         *ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น
                                         *ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
                                          ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์
 
เรื่องที่ควรกลัว                      กลัวเกิด มากกว่ากลัวตาย
 
เรื่องที่ควรกล้า                       กล้าทำความดี
 
สิ่งที่ต้องกำจัด                       ความโลภ ความโกรธ ความหลง
 
ที่ปรึกษา                              พระพุทธเจ้า 
                                        คำสอนของพระองค์ และพระอริยะสงฆ์
 
ที่พึ่ง                                  ตนเอง (ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน)
 
ผู้ปฏิบัติ                             ได้ทุกเพศ ทุกวัย
 
สถานที่ปฏิบัติ                       ได้ทุกที่

ระยะเวลาในการปฏิบัติ          ได้ทุกเวลา ตลอดชีวิต ทุกลมหายใจเข้า-ออก
 
วิธีปฏิบัติ                               *รักษาศีลให้บริสุทธิ์ในสถานะที่ดำรงตนอยู่
                                         *อยู่กับปัจจุบัน
                                         *ปฏิบัติสมาธิ และใช้ชีวิตประจำวันด้วยสติ

KPI ผลการปฏิบัติ            - วัดจากใจที่ดำเนินตามมรรค ๘
                                           สมบูรณ์หรือยัง
                                        - ความโลภ ความโกรธ ความหลง ลดลง
                                          หรือไม่                                         
                                        - ความอยากลดลงหรือไม่
 
คำแนะนำ                         ไปไหนมาไหนต้องไปกับเพื่อนร่วมทางเสมอ

เพื่อนร่วมทาง                สติ.... จะไปกับเพื่อนคนไหนก็ได้ 
                                      ลองคบดูก่อนว่าเพื่อนคนไหนคุยกันแล้วถูก
                                      คอ มี 4 คนให้เลือก ชื่อ สติรู้กาย สติรู้เวทนา
                                      สติรู้จิต และสติรู้ธรรม

ผลที่จะได้รับ                 ความหลุดพ้นจากทุกข์ 
                                     (จะช้าหรือเร็วขึ้นกับความเพียรของผู้ปฏิบัติ)
 
ผลพลอยได้                      * ชีวิตประจำวันมีความสุข
                                    * การงานดี
                                    * มีคนดีในสังคม ประเทศชาติสงบสุข
                                    * สันติภาพของโลก
 
ที่มา ; http://www.gotoknow.org/blog/beone001/147503

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
จำนวนข้อความทั้งหมด:  9
1
แสดงความคิดเห็น
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 11/9/2554 23:33:00 IP : 115.87.32.155 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 
เด็กข้างวัด Talk:

... 
เรื่องที่ควรเชื่อ                  *กรรมและผลของกรรม
                                         *ความอยากในกาม
                                         *ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น
                                         *ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น 
                                          ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์
 
...

 



วิทยานิพนธ์ชีวิตที่คุณเด็กข้างวัดยกมานั้น คนเขียนนี่ช่างมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำกรอบวิทยาการบริหารปัจจุบันมาประยุกต์อธิบายได้น่าประทับใจ ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ

ผมมีประเด็นเสริมหรือจะเรียกว่าเป็นประเด็นเชิญชวนให้ช่วยกันพิจารณาในความหมายของตัณหา (ความอยาก) ดังนี้ครับ

อันว่ากิเลสตัณหาที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงออกเป็น ๓ ตัว ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา นั้น

ตัณหาตัวที่ ๓ ที่หลายแห่งมักแปลว่า "ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น" เช่นแหล่งที่คุณเด็กข้างวัดยกมานั้น เราลองพิจารณาดูสิครับ "ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น" มันเป็นกิเลส หรือเป็นธรรมกันแน่?

ขึ้นชื่อว่าตัณหา ควรแปลว่าความอยากจึงจะเหมาะควร ดังนั้น ตัววิภวตัณหาจึงควรแปลว่า "ความอยากที่จะไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็น ต่างหากล่ะ (=อยากเอามันออกไปจากชีวิตฉัน หรืออยากพ้นไปจากสถานะที่กำลังเป็นอยู่)

อยากคือกิเลส  ไม่อยากหรือหมดอยากคือธรรม

ตัวอยากจำพวกหนึ่ง เป็น ตัวอยากในทางโลภะ คือ อยากดึงอะไร ๆ เข้ามาเป็นของเรา

ตัวอยากอีกชนิดหนึ่ง เป็นตัวอยากในทางผลักไสอะไร ๆ ที่เราไม่พอใจออกไป (จนถึงขั้นอยากทำลาย) จึงเป็นตัวอยากในทางโทสะ

เมื่อพิจารณาดังนี้ ไม่ทราบคุณเด็กข้างวัด และเพื่อน ๆ จะมีความเห็นสอดคล้องหรือแตกต่างอย่างไรกันบ้างครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 12/9/2554 21:05:00 IP : 125.24.14.185 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

 _/|\_ สวัสดีค่ะ คุณเด็กข้างวัด พี่พรสิทธิ์ และคุณสุภา

คุณสุภาประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นิดาก็เลยไปหาข้อมูลอ้างอิงส่วนที่ครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรมไว้ ซึ่งมีดังนี้ค่ะ

จาก สัมมาทิฏฐิตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ โดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ

...ตัณหานั้นท่านมักแปลกันว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนของจิตใจ หรือแปลกันอย่างธรรมดาว่า ความอยาก

...เมื่อเป็นอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็เกิดเป็นกามตัณหา และก็ย่อมเกิดภวตัณหา ต้องการที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น คือต้องการเป็นนั่นเป็นนี่ในอันที่จะครอบครองกามคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย แต่ถ้าหากว่าอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดวิภวตัณหาความอยากที่จะให้อารมณ์เหล่านั้นสิ้นไปหมดไป ไม่ต้องการที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ซึ่งจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้นๆ

...อาการของความอยากดังกล่าวนี้ จึงมีลักษณะที่ดิ้นรนกระสับกระส่ายกระวนกระวาย

...ต้องการที่จะได้ ต้องการที่จะเป็นเราของเรา ต้องการที่จะให้สิ่งที่ไม่ชอบหมดไปอยู่เรื่อยไป

 

จาก หลวงปู่ฝากไว้ บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา ของ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า ... ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ฯ หลวงปู่กล่าวว่า ...เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล

 

จาก อานาปาน์ โดย ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ภวตัณหา ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งไม่มีฐานะที่จะเป็นไปได้ ก็อยากเป็น ซึ่งไม่ใช่เวลาและโอกาสที่ควรก็อยาก ท่านเรียกว่า ความหิวโหย เปรียบเหมือนกับคนหิวข้าว แต่ไม่มีข้าวจะกิน แล้วแสดงมรรยาทให้ปรากฏว่า เราเป็นคนอยากกินข้าว ท่านเรียกว่า ภวตัณหา (จิตส่าย) เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้นได้ชนิดหนึ่ง

วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เกิดมาแล้วไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งทั้งหลายในโลกซึ่งตนมีอยู่ เช่น มียศ มีลาภ ก็ไม่อยากให้ยศให้ลาภหายไปจากตน ความจริงนั้นก็หนีไม่พ้น เมื่อมันแปรไป จึงทำให้เกิดทุกข์ (จิตไหว) ปุนปฺปุนํ ปิฬิตตฺตา ภวาภเว เป็นภพน้อยภพใหญ่ในจิตก่อน แล้วต่อไปเป็นชาติ ฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมละวางเสียได้

 

จาก ไตรรัตน์ ๑ (หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ)

การปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย ไม่เป็นอีกเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ

ส่วนโดยความเห็นส่วนตัว (ซึ่งถ้าผิดพลาดก็ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง _/|\_ไว้ด้วยนะคะ) นิดาว่าถ้อยคำและภาษานั้นดิ้นได้ สำคัญที่ความมุ่งหมายและการสื่อความที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง การสื่อสารแบบสองทิศทางจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารโดยเฉพาะเมื่อประสบพบหน้ากันในระหว่างสนทนาจึงมีข้อดีคือสามารถซักถามข้อสงสัยได้โดยตรงและโดยทันทีนั้นเอง

นอกจากนี้ภาษาก็มีความอ่อนไหวตามกาลและตามกลุ่มชนอีกด้วย ในสมัยหนึ่งหากมีวัยรุ่นพูดว่า "จริงดิ" ก็เป็นลักษณะคำถามว่า จริงหรือ? ถ้าจริง ผู้ตอบก็ตอบว่า "จริง" "จริงน่ะซิ" ถ้าไม่จริงก็ตอบปฏิเสธไป แต่สมัยนี้ หากวัยรุ่นสองคนสนทนากัน คนหนึ่งว่า "จริงดิ" อีกคนตอบว่า "จริงดิ" ก็หมายเอาในกลุ่มหนึ่งว่าคนแรกถามเป็นคำถาม อีกคนนั้นตอบเป็นคำตอบ แต่ใช้การเล่นคำเดียวกันนั้นเอง

อันนี้ก็เลยเถิดออกไปนิดหนึ่งน่ะค่ะ กลับมาที่ประเด็นของกระทู้ นิดาก็เคยทั้งได้อ่าน (เห็น) และทั้งได้ยินได้ฟัง ทั้งสองแบบค่ะ ทั้งแบบ "ไม่อยากได้/มี/เป็น" และ "อยากที่จะไม่ได้/ไม่มี/ไม่เป็น" มาก่อนหน้านี้ และแม้เมื่อค้นข้อมูลอ้างอิงมาลง ก็แลดูว่าเป็นความหมายในทำนองเดียวกัน ดังนี้

ไม่อยากได้/มี/เป็น --- เป็นเชิงปฏิเสธว่าไม่ต้องการที่จะได้/มี/เป็น ไม่ยินดีไม่พอใจที่จะได้/มี/เป็น เช่น ไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร คนแบบนี้ถ้าใครให้อะไรมาแล้วจำใจต้องรับก็จะหาโอกาสให้ตอบแทนแบบไม่น้อยหน้ากันเพื่อให้เสมอภาค ไม่เป็นบุญเป็นคุณต่อกัน

อยากที่จะไม่ได้/ไม่มี/ไม่เป็น --- แบบนี้ก็ชัดเจนอยู่ว่าถ้าผิดไปจากที่อยากก็ไม่ยินดี ไม่พอใจ เมื่ออยาก + ที่จะไม่ได้ ก็ชัดเจนว่า ถ้าได้มาก็ไม่ยินดี

รวมความว่า "ไม่อยากได้" ก็หนักไปทางยินร้าย หรือชิงชัง ไม่พอใจ ยุ่งยากใจในการได้มา "อยากที่จะไม่ได้" ก็หนักไปทางยินร้าย หรือชิงชัง ไม่พอใจ ยุ่งยากใจในการได้มา เช่นกัน

ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ก็คือ ไม่คิดไขว่คว้าอยากได้ และไม่คิดขุ่นเคืองผลักไส ได้ก็สักแต่ว่าได้ ไม่ได้ก็สักแต่ว่าไม่ได้

ที่กล่าวมาส่วนความคิดเห็นของตนเองนี้ก็เป็นไปตามความเข้าใจส่วนตน ซึ่งผู้แสดงไม่ใช่ผู้รู้ที่จะรับรองความถูกต้องถูกตรงตามธรรมได้ค่ะ (เพราะเป็นเพียงผู้เดินทางที่ห่างไกลเป้าหมาย ... ส่วนนี้ที่กล่าวอยู่เนืองๆ ก็เพื่อเตือนใจผู้กล่าวเองเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งหมายเป็นอื่นค่ะ) ทุกๆท่านที่อ่านกระทู้ก็คงต้องพิจารณาทำความเข้าใจของตนโดยอาศัยข้อมูลอ้างอิงที่มาจากครูบาอาจารย์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในทุกความสงสัยในธรรม สิ่งสำคัญสำหรับทุกคนและแม้แต่ตัวนิดาเองก็คือ การลงมือปฏิบัติจริง เพราะ...

การเรียนรู้เป็นการสะสม เรียนไม่สามารถจบสิ้นได้ แต่การปฏิบัติเป็นการเรียนที่สามารถจบกิจ พ้นกิเลสพ้นทุกข์ได้ ... หลวงปู่อ่อน จกฺกธมฺโม

ผู้ใดหลงใหลในตำรา ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน ... หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

 

..._/|\_ พุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชาค่ะ...

 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 3  « on 13/9/2554 9:30:00 IP : 125.24.6.46 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

_/|\_ สวัสดีและขอบพระคุณพี่พรสิทธิ์ค่ะ

จะเรียกว่านิดาเป็นคนน่าแปลกก็ได้ค่ะ (^_^) แต่นิดาไม่ได้เป็นคนรุ่นใหม่หรอกค่ะ เพราะนิดารู้จัก มานะ มานี ปิติ วีระ ชูใจ ด้วยค่ะ ... หมายถึงหนังสือแบบเรียนภาษาไทยในยุคสมัยหนึ่งซึ่งมีภาพและเรื่องราวใสๆ ให้เรียนรู้วิถีชีวิตไทย ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนจริยธรรมด้วยค่ะ ... แบบนี้เรียกว่าเป็นฆราวาสที่เป็นผู้ใหญ่หรือ ผู้แก่ แล้วมังคะ ... (^_^) หนังสือท่านพ่อลีมีลักษณะดังที่พี่พรสิทธิ์กล่าวมา แต่ท่านอธิบายธรรมะอย่างละเอียดลึกซึ้ง ขยายสิ่งเล็กๆ (แต่เป็นสิ่งสำคัญ) แตกออกเป็นธรรมอย่างกว้างขวางครอบคลุม 

จุดตั้งต้นนั้น ต้องกล่าวว่า เพราะหนังสือ เรื่องของลม ฉบับธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๐ ของท่านพ่อลี ที่มีชื่อพี่พรสิทธิ์เป็นผู้ออกแบบปก ซึ่งนิดาได้มาจากการไปทำบุญที่วัดอโศการามเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ นั่นเอง และเพราะข้อความในหน้าที่ ๑ ว่า ในการนั่งภาวนาให้ทำลมให้แคบที่สุด อย่าให้จิตไปอยู่นอกตัว ถ้าเราเอาจิตไปอยู่กับคนอื่นสิ่งอื่น เราก็จะต้องได้รู้แต่เรื่องของคนอื่นสิ่งอื่น ส่วนเรื่องของตัวเองก็เลยไม่ได้รู้ได้เห็นอะไรเลย เราอยู่ใกล้กับสิ่งใดจะต้องสนใจกับสิ่งนั้น เราอยู่ใกล้คนใดก็จะต้องสนใจกับคนนั้นให้มากที่สุด คนใดนั่งใกล้เรา ต้องสนทนาปราศัยกับเขา อย่านั่งเป็นใบ้ ทำความคุ้นเคยสนิทสนมกับเขาไว้ ถ้าเราไม่พูดคุยทำไมตรีกับเขาไว้บ้าง เขาก็จะต้องไม่ชอบเรา และกลายเป็นศัตรูของเราไป นี้ฉันใด เรื่องร่างกายของเรานี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุเหล่านี้ย่อมเปรียบเหมือนกับญาติหรือมิตรสหายของเรา เพราะเรานั่งนอนยืนเดินไปทางไหน เขาก็ติดตามเราไปทุกแห่ง ฉะนั้น เราต้องสนใจทำความรู้จักคุ้นเคยกับเขาไว้ให้มากกว่าคนอื่น เมื่อสนิทสนมกันแล้ว นานๆ ไปเขาก็จะรักเรา และช่วยเหลือเราได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเรามีมิตรที่ดีและซื่อตรงเช่นนี้ เราก็ย่อมจะปลอดภัยและมีความสุขทำให้เมื่อต่อมาได้รับหนังสือพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจคราวหนึ่งซึ่งมีโอวาทธรรมของท่านพ่อลีในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอานาปาน์ จึงเกิดความสนใจและพากเพียรที่จะอ่าน เพราะนอกจากได้รู้ เรื่องของลม แล้วยังได้รู้ความละเอียดลึกซึ้งของลมซึ่งสัมพันธ์กับอริยสัจธรรมแต่ละข้อ แล้วยังได้รับความรู้ว่าเพราะเหตุใด ลม จึงใหัผลในการระงับเวทนา ตลอดจนลมละเอียดให้ทิพยผลได้อย่างไรอีกด้วย

 

กล่าวมาถึงตรงนี้ ก็ต้องขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งในกุศลทั้งปวงที่พี่พรสิทธิ์ได้ประกอบอุทิศแด่พระพุทธศาสนา เป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา และอาจาริยบูชา ไว้แล้วด้วยดีเสมอมา ... นิดาได้รับผลอำนวยในธรรมจากสิ่งที่พี่พรสิทธิ์ประกอบไว้นั้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธรรมหลวงปู่ดู่ที่นิดาได้อ่านศึกษาจากหนังสือพระผู้จุดประทีปในดวงใจซึ่งลงชื่อพี่พรสิทธิ์มอบเป็นธรรมทานให้กับผู้สนใจ พี่พรสิทธิ์จึงเสมือนเป็นผู้เปิดประตูธรรมบานนั้น และหนังสือธรรมอีกหลายเล่มที่พี่พรสิทธิ์มีส่วนร่วมจัดทำ (โยนิโสมนสิการธรรม ผลไม้ในสวนธรรม ฯ) รวมถึง เรื่องของลม ซึ่งกล่าวแล้วว่าเป็นส่วนสำคัญให้นิดาได้รับฟัง (อ่าน) การอรรถาธิบายธรรมอันละเอียดลึกซึ้งของท่านพ่อลีค่ะ

 

_/|\_ กราบบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนขอขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งแด่พี่พรสิทธิ์ กลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำ รวมถึงกัลยาณมิตรและท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานทั้งปวงค่ะ _/|\_

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
น้อง

Posts: 5 topics
Joined: 17/3/2554

ความคิดเห็นที่ 4  « on 13/9/2554 13:26:00 IP : 115.87.104.168 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

สาธุ อิ่มเอมค่ะฟังปราชญ์คุยกัน ไม่อยากในสิ่งที่ตัวเองมี เป็น ได้ หรือเปล่าคะ ไม่อยากในสิ่งที่ไม่ดี แต่อยาก มี เป็นได้ ในสิ่งดี เมื่อ มี เป็น ได้ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความอยากจึงทุกข์ เพราะความไม่อยากนี้เป็นกิเลส หลวงปู่ดุลย์ "ไม่เป็นอะไรเลย"

 A พูดว่าไม่อยากมีกิเลส ไม่อยากโกรธ  คำพูดเป็นธรรม แต่ความไม่อยากเป็นกิเลส  AพูดเพราะAมีโกรธ Aจึงไม่อยากมี

A อยากมีสติ คนเรามักอยากในสิ่งที่ตัวเองไม่มี คำพูดเป็นธรรม แต่อยากเป็นกิเลส

ขนาบป้าด้วยจ้ะความเห็นของป้าไม่ถูก ป้าร่วมด้วยช่วยแห่จะได้ไม่มีใยแมงมุม spider webs

โมทนาสาธุค่ะ ความรู้รวมยอด ,comprehensive,ต้องให้เด็กข้างวัด คุณสิทธิ์ คุณนิดาพรรณ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 5  « on 13/9/2554 20:42:00 IP : 101.108.79.156 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

<<พี่พรสิทธิ์ - คำว่า "ประกาศอุทิศ..." อันนี้หนักไปหน่อย พี่ก็แค่ทำไปด้วยเห็นคุณค่า ซึ่งก็ไม่เคยไปประกาศ หรืออธิษฐานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน (เท่าที่ระลึกได้)>>

_/|\_ ขอโทษค่ะ ประกอบอุทิศ  ค่ะ ... กุศลที่ได้ประกอบไว้แล้วเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนา หรือเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาค่ะ รวบคำมาเป็น ประกอบอุทิศ เลยทำให้สับสน ต้องขอโทษด้วยค่ะ หนังสือที่พี่พรสิทธิ์มีส่วนร่วมจัดทำ เท่าที่นิดามีอยู่ ไม่มีเล่มไหนประกาศใดๆ ไว้ค่ะ

 

<<แต่ก็แปลกที่งานวิ่งเข้ามาหาเรา ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้วพี่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ทั้งหลายนัก เช่น หนังสืองานศพหลวงปู่สิม พุทธาจาโร  หนังสืองานศพหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ  หนังสืองานศพหลวงตาผนึก  สิริมังคโล หนังสือธรรมที่แจกวันเกิดของหลวงพ่อพุธ และหนังสือแจกงานวันคล้ายวันมรณภาพของท่านพ่อลี เป็นต้น >>

ที่กล่าวนามครูบาอาจารย์มาก็ไม่น้อยแล้วค่ะ .และคงมีหลายท่านมากกว่านี้ที่พี่พรสิทธิ์ได้เคยพบและกราบไหว้ นั่นทำให้คุณสมบัติ สมานัตตา ของพี่พรสิทธิ์แจ่มชัดมาก (ประมวลจากข้อความของพี่พรสิทธิ์ในกระทู้ต่างๆ ในเรื่องต่างๆ) ทั้งๆ ที่พี่พรสิทธิ์ไม่เพียงมีวัยวุฒิเท่านั้น แต่ในทางธรรมก็ยังได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์มามาก ได้เรียนรู้ธรรมมาไม่น้อยและหลากหลายสายธรรม (เท่าที่ได้เคยอ่านข้อความที่พี่พรสิทธิ์เขียนถึงครูบาอาจารย์ซึ่งรวมถึงหลวงพ่อฤาษีลิงดำด้วยค่ะ) _/|\_

 

<<พี่พรสิทธิ์ - นึกแล้วก็อายอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นหนังสือเชย ๆ นี่หากว่าได้ทีมงานกลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำมาช่วยงานแต่ทีแรก ก็คงจะดูดีขึ้นไม่น้อย>>

นิดาคิดต่างอย่างนี้ค่ะ เวลาที่นิดาเลือกหาหนังสือ จะเลือกดูที่เนื้อหาสาระในเล่ม เมื่อเป็นหนังสือธรรมแท้ที่มีคุณค่า และโดยที่พระพุทธธรรมเป็นอกาลิโก หนังสือนั้นเล่มใดๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมหัวเรื่องใดๆ จึงทันสมัยอยู่เสมอ อ่านซ้ำได้อีก นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ทุกเมื่อ ... คล้ายๆ พุทธธรรมคำกลอนของหลวงพ่อพุทธทาส คนจะงามงามน้ำใจใช่ใบหน้า...คนงามต้องงามจากภายใน หนังสือก็งามที่เนื้อหาสาระภายในเช่นกัน

 

<<คุณนิดารู้จักเถรใบลานเปล่าไหม พี่ก็คงเป็นราว ๆ นั้นแหละ สัญญามันมากกว่าปัญญาเยอะ >>

ปัญญาในธรรมจะมากหรือน้อย ยากที่ใครทั่วไปจะชี้ชัด หลวงปู่ท่อนท่านกล่าวว่า เกิดบังดับ โลกบังธรรม งามบังผี ดีบังจริง สมมติบังวิมุตติ...(บันทึกธรรมจากหลวงปู่ พระราชญาณวิสุทธิโสภณ (หลวงปู่ท่อน ญาณธโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๓) บุคคลผู้ข้ามผ่านเวทนาในการปฏิบัติสมาธิ เมื่อประสบทุกขเวทนาหนักแล้วจะต้านทานไปได้หรือไม่นั้น ยากที่จะรู้เมื่อยังไม่ประสบด้วยตนเอง กล่าวถึงบททดสอบเวทนาหนักแล้วก็ระลึกถึง พี่แดง ซึ่งสามารถรักษาวิหารธรรมในใจไว้ได้แม้ระหว่างอาการกำเริบของมะเร็งขั้นสุดท้าย โรคซึ่งผู้ป่วยโดยทั่วไปต้องประสบทุกข์หนักถึงขั้นที่มอร์ฟีนเต็มขนาดทางการรักษาก็ยังไม่อาจกดข่มความเจ็บปวดได้ ... ๒ ปีของการปฏิบัติที่จริงจังของพี่แดงจึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง ... _/|\_

 

<<คุณน้อง - สาธุ อิ่มเอมค่ะฟังปราชญ์คุยกัน ไม่อยากในสิ่งที่ตัวเองมี เป็น ได้ หรือเปล่าคะ ไม่อยากในสิ่งที่ไม่ดี แต่อยาก มี เป็นได้ ในสิ่งดี เมื่อ มี เป็น ได้ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความอยากจึงทุกข์ เพราะความไม่อยากนี้เป็นกิเลส หลวงปู่ดุลย์ "ไม่เป็นอะไรเลย">>

 (^_^) ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้นิดาจับกิเลสของตัวเองได้ คือ ไม่อยากเป็นปราชญ์ตามคำเรียก (เพราะรู้ตัวว่ายังไม่มีดีพอ) แต่ก็อยากเป็นปราชญ์ให้ได้ในสักวันหนึ่ง (ปราชญ์...ผู้รู้ ... ถ้ายังไม่รู้ก็คงต้องหมุนติ้วๆอยู่ในข่ายใยแมงมุม ... ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะรู้ (^_^) ได้แต่พากเพียรเดินทางต่อไป)

 

<<คุณน้อง - ขนาบป้าด้วยจ้ะความเห็นของป้าไม่ถูก ป้าร่วมด้วยช่วยแห่จะได้ไม่มีใยแมงมุม spider webs>>

(^_^) คุณป้าเปิดทางให้เรียก นิดาก็ขออนุญาตเรียกว่าคุณป้าด้วยคน ด้วยความเคารพค่ะ ... นิดาผู้ยังไม่เป็นปราชญ์ ผู้ยังเดินทาง ก็ยังแห่แหน (๔ คนหาม ๓ คนแห่ ๑ คนนั่งแคร่ ๒ คนเดินตาม) และยังดิ้นรนทุกข์ร้อนอยู่ใน spider webs เช่นกันค่ะ (^_^) ... ตอนนี้ก็ อยาก อีกค่ะ ... อยากให้เป็นอย่างเพลงที่ร้องว่า ตัดให้ขาดเลย ฉับๆๆ ตัดให้ขาดเลย ฉับๆๆ มีแต่อยากกับอยากอยู่นั่นแล้ว (^_^)

 

<<คุณป้าน้อง - ความรู้รวมยอด ,comprehensive,ต้องให้เด็กข้างวัด คุณสิทธิ์ คุณนิดาพรรณ>>

... นิดาผู้เดินทาง มองเห็นแต่รายทาง หลงไปหลงมาก็มาก ไปไม่ถึงยอดสักทีค่ะ ... คงมีแต่ผู้ที่เดินทางไปถึงยอดจึงจะมองเห็นสรรพสิ่งทั้งปวงได้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด ...

 

_/|\_ ขอบพระคุณคุณป้าน้อง พี่พรสิทธิ์ คุณสุภา และเจ้าของกระทู้ ที่ทำให้ได้มาพบพูดคุยเกี่ยวเนื่องในธรรมธรรมกันในกระทู้นี้ ขออนุโมทนาแด่ทุกท่านค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 6  « on 13/9/2554 21:00:00 IP : 125.24.18.148 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

พี่พรสิทธิ์คะ นิดาไม่แน่ใจว่าที่พี่พรสิทธิ์กล่าวถึงว่า ไม่เคยประกาศ นั้น เป็นที่เกี่ยวกับคำว่า "ประกอบอุทิศ" หรือเกี่ยวกับข้อความว่า "หนังสือพระผู้จุดประทีปในดวงใจซึ่งลงชื่อพี่พรสิทธิ์มอบเป็นธรรมทานให้กับผู้สนใจ " ถ้าเป็นประการหลัง นิดาขอขยายความว่า หนังสือที่นิดาได้อ่านเป็นหนังสือที่มีลายมือเขียนด้วยดินสอว่า "พรสิทธิ์" หรือไม่ก็ "พรสิทธิ์ อุดมศิลป์จินดา" ค่ะ ไม่ได้ประกาศการมอบ แต่หนังสือนั้นได้ผ่านการมอบจากพี่พรสิทธิ์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งสนใจในธรรม นิดาจึงกล่าวถึงกิริยาว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานค่ะ เห็นทีว่านิดาต้องปรับปรุงตัวเองอย่างมากในเรื่องภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ... ต้องขออภัยด้วยค่ะ _/|\_

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 7  « on 19/9/2554 22:30:00 IP : 58.11.112.213 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

อ่านเหล่านักปราชญ์คุยกัน..

ย่อมได้ทั้งสาระ..แลประโยชน์..

ผู้รู้อยู่แล้ว..ยิ่งได้รู้มากขึ่น..

ผู้ที่ยังไม่รู้ (เช่นเรา)..ย่อมได้รู้ ได้เข้าใจมากขึ้น..มีคุณอนันต์..

คุณ nidapan แม่นมาก..ทั้งอรรถะ พยัญชนะ..นัยยะแห่งธรรม

แสดงได้ถึงภูมิจิต มิได้แม่นแต่เพียงในตำรา หากแต่ยังผลมาแต่การปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือจากใจจริง..

ต.ย.หนึ่งที่คุณ nidapan ยกมา..ชอบมาก

"ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน "

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล "หลวงปู่ฝากไว้"...

ขอขอบคุณเหล่า "ปราชญ์ธรรม" ทุกท่าน..สาธุ..

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 8  « on 20/9/2554 10:36:00 IP : 125.24.32.127 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

_/|\_ สวัสดีค่ะ คุณธุลีดิน

 

ประโยชน์ใดๆ ซึ่งเกิดจากข้อมูลธรรมะที่นิดาอ้างอิงมาจากการได้อ่าน/ได้ยินได้ฟังคติธรรมคำสอนครูบาอาจารย์ นิดาขอนอบน้อมและกราบบูชาแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ค่ะ _/|\_

 

... เมื่อจะตัดสังสารวัฏให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชาความรู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริงก็จะหายหลง แล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏด้วยประการฉะนี้... จาก มุตโตทัย พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ฉบับพิมพ์แจกเป็น ส.ค.ส.๒๕๔๐

ความสุขอันใดเสมอด้วยจุดจบ ไม่มี ... จาก ธรรมโอวาท พระธรรมคติ ของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

 

ธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นงดงามหมดจด ปฏิปทาของพระพุทธองค์ตลอดจนครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็งดงามน่าเลื่อมใส เหลือก็แต่ผู้เดินทางซึ่งได้แต่เพียงอาศัยแนวทางตามที่มีให้ศึกษาและอ้างอิงอยู่นั้น เมื่อยังว่ายวนอยู่ในสังสารวัฏ ก็ยังไม่สิ้นสุดการเดินทาง ยังไม่สิ้นการงานในการถอดถอนกิเลส เพราะยังไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ... ผู้เดินทางยังต้องคอยเตือนตนไว้ให้มีความระมัดระวัง เตือนตนไว้ให้เพียรละเสียซึ่งบาปอกุศลทั้งปวง เตือนตนไว้ให้เพียรประกอบซึ่งกุศลกรรม และเตือนตนไว้ให้เพียรฝึกฝนอบรมชำระจิตใจตนจากกิเลสที่พอกพูนทับถมนอนเนื่องในจิตใจ ...

 

_/|\_ ขอขอบพระคุณคุณธุลีดินค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
น้อง

Posts: 5 topics
Joined: 17/3/2554

ความคิดเห็นที่ 9  « on 20/9/2554 14:38:00 IP : 124.121.237.107 »   
Re: วิทยานิพนธ์ของชีวิต
 

โมทนาสาธุ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 8 Visits: 16,673,820 Today: 542 PageView/Month: 55,185