luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ  (Read: 21342 times - Reply: 10 comments)   
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
« Thread Started on 29/9/2554 18:51:00 IP : 125.24.47.95 »
 

สืบเนื่องมาจากกระทู้คำถามของ คุณลูกไก่เถื่อน เรื่อง มีข้อสงสัยครับว่าการถอนผมหงอกให้ แม่ ย่า ยาย สมควรหรือไม่ครับเป็นบาปหรือเปล่าครับ จึงขอน้อมนำส่วนหนึ่งของเทศนาธรรมของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ที่ได้ทรงอรรถาธิบายในเรื่องกรรม ซึ่งครอบคลุม กรรมดี/กุศลกรรม/บุญกรรม และ กรรมไม่ดี/อกุศลกรรม/บาปกรรม ตลอดจนทางกรรม หรือ กรรมบถ มา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์ในธรรมสำหรับท่านผู้สนใจค่ะ

=========

กรรม (จากหนังสือ หลักพระพุทธศาสนา โดย สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) พิมพ์ครั้งที่ ๗ : ๒๕๓๐)

กรรม-กิริยา

การศึกษาพระพุทธศาสนาถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในหลักกรรม ก็ชื่อว่ายังมิได้ศึกษาในข้อหลัก และการนับถือพระพุทธศาสนาถ้ายังมิได้นับถือหลักของกรรมตามพระพุทธศาสนา ก็ชื่อว่ายังมิได้นับถืออย่างเข้าถึงหลัก คล้ายกับการนับถือมารดาบิดา ถ้าขาดความกตัญญูกตเวทีเสียแล้ว ก็ไม่ชื่อว่านับถืออย่างจริงใจ

คำว่า กรรม มีใช้ในภาษาไทยมาก เช่น กรรมการ กรรมกร กรรมาธิการ แต่ในภาษาที่พูดกัน เคราะห์ร้ายมักตกอยู่แก่กรรม เคราะห์ดีมักตกอยู่แก่บุญ ดังเมื่อใครประสบเคราะห์ร้าย คือทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ก็พูดว่าเป็นกรรม แต่เมื่อใครประสบเคราะห์ดีมักพูดว่าเป็นบุญ และมีคำพูดคู่กันว่าบุญทำกรรมแต่ง เกณฑ์ให้กรรมเป็นฝ่ายดำ ให้บุญเป็นฝ่ายขาว ความเข้าใจเรื่องกรรมและคำที่ใช้พูดกันในภาษาไทยจักเป็นอย่างไรให้งดไว้ก่อน ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความหมายในพระพุทธศาสนา

คำว่า กรรม แปลว่า กิจการที่คนกระทำ

คำว่า ทำ หมายถึง ทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่า กายกรรม ทั้งทำด้วยวาจา คือ พูด อันเรียกว่า วจีกรรม ทั้งทำด้วยใจ คือ คิด อันเรียกว่า มโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำก็หมายถึงทำทางกายเท่านั้น ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่าเป็นการทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำ คือ ทำการพูด จะคิดก็ต้องทำ คือ ทำการคิด จึงควรทำความเข้าใจว่า ในที่นี้คำว่าทำใช้ได้ทุกทาง เมื่อได้ฟังว่า ทำทางกายก็ให้เข้าใจว่า ทำอะไรด้วยกายที่เข้าใจอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังว่าทำทางวาจา ก็ให้เข้าใจว่าพูดอะไรต่างๆ เมื่อได้ฟังว่าทำทางใจ ก็ให้เข้าใจว่า คิดอะไรต่างๆ ก็การฟังคำพูดอธิบายหลักวิชาอาจขวางหูอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าใจความหมายแล้วก็จักสิ้นขัดขวาง กลับจะรู้สึกว่าสะดวกเพราะเป็นคำที่มีความหมายลงตัวแน่นอน

คำว่า กรรม มักแปลกันง่ายๆ ว่า การทำ แต่ผู้เพ่งศัพท์และความ แปลว่ากิจการที่บุคคลทำ ดังกล่าวแล้ว ถ้าแปลว่าการทำ ก็ไปพ้องกับคำว่ากิริยา คำว่า กิริยา แปลว่า การทำโดยตรง ส่วนคำว่ากรรมนั้น หมายถึง ตัวกิจหรือการงานที่กระทำ ดังคำที่พูดในภาษาไทยที่ถูกต้อง เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม และคำอื่นที่ยกไว้ข้างต้น คำเหล่านี้ล้วนหมายถึงกิจการอย่างหนึ่งๆ ที่สำเร็จจากการทำ (กิริยา)

กรรมคืออะไร

                กรรมคืออะไร กรรมแปลว่าอะไรได้กล่าวแล้ว แต่กรรมคืออะไร จำต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า เรากล่าวเจตนา (ความจงใจ) ว่าเป็นกรรม เพราะคนจงใจ คือมีใจมุ่งแล้วจึงทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ฉะนั้น กรรมคือกิจที่บุคคลจงใจทำหรือด้วยเจตนา ถ้าทำด้วยไม่มีเจตนาไม่เรียกว่ากรรม อย่างเช่นไม่มีเจตนาเหยียบมดตาย ไม่เป็นกรรมคือปาณาติบาต ต่อเมื่อเจตนาจะเหยียบให้ตายจึงเป็นกรรมคือปาณาติบาต แต่เมื่อจัดอย่างละเอียด สิ่งที่ทำด้วยไม่มีเจตนา ท่านก็จัดเป็นกรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่ากรรมสักว่าทำ เพราะอาจให้โทษได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่กฎหมายถือว่าผิดในฐานะประมาท

                กรรมเกี่ยวกับคนเราอย่างไร กรรมเกี่ยวกับคนเรา หรือคนเรานั่นแหละเกี่ยวกับกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเรานั้นตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นจนถึงหลับไปใหม่ก็มีเจตนาทำอะไรต่างๆ พูดอะไรต่างๆ คิดอะไรต่างๆ อยู่เสมอ โดยปกติไม่มีใครหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ได้ ถึงมือไม่ทำ ปากก็พูด ถึงปากไม่พูด ใจก็คิดถึงเรื่องต่างๆ การต่างๆ ที่ทำนี้แหละเรียกว่ากายกรรม คำต่างๆ ที่พูดนี่แหละเรียกว่าวจีกรรม เรื่องต่างๆ ที่คิดนี่แหละเรียกว่ามโนกรรม

กรรมดี-กรรมไม่ดี

                กรรมนั้นดีหรือไม่ดี กรรมจะดีหรือไม่ดีก็สุดแต่ผลที่เกิดขึ้นจากกรรมนั้นๆ ถ้าให้เกิดผลเป็นคุณเกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่น ก็เป็นกรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นกิจของคนฉลาด หรือบุญกรรม กรรมที่เป็นบุญ คือความดีเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น การรักษาศีล ประพฤติธรรมที่คู่กับศีล หรือแม้กิจการที่ดีที่ชอบที่เป็นตามที่แสดงมาแล้วที่เป็นสุจริตต่างๆ เช่น การตั้งใจช่วยมารดาบิดาทำการงาน การตั้งใจเรียน การประพฤติตนให้ดี การช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหาย การทำสาธารณสงเคราะห์ต่างๆ ส่วนกรรมที่ให้เกิดผลเป็นโทษเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นกรรมชั่ว ไม่ดี เรียกว่า อกุศลกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นกิจของคนไม่ฉลาด บาปกรรม กรรมที่เป็นบาป เช่น การประพฤติผิดในศีลธรรม ประพฤติทุจริตต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับกุศลกรรม

กรรมบถ

                ตัวอย่างของกรรมดีและกรรมไม่ดีข้างต้นนั้น กล่าวตามแนวพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแสดงเป็นทางปฏิบัติไว้ชัดเจน เรียกว่ากรรมบถ แปลว่า ทางของกรรม เรียกสั้นว่า ทางกรรม ทรงชี้แจงไว้เพียงพอและเข้าใจง่ายว่าทางไหนดีทางไหนไม่ดี คือ:-

                กายกรรม (กรรมทางกาย) นั้น ฆ่าเขา ๑ ลักของเขา ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ เป็นอกุศล ไม่ดี เว้นจากการทำอย่างนั้นและอนุเคราะห์เกื้อกูลเขา ๑ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ๑ สังวรในกาม ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

                วจีกรรม (กรรมทางวาจา) นั้น พูดมุสา ๑ พูดส่อเสียดเพื่อให้เขาแตกกัน ๑ พูดคำหยาบด้วยใจมีโทสะเพื่อให้เขาเจ็บใจ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ เป็นอกุศล ไม่ดี เว้นจากการพูดอย่างนั้น และพูดแต่คำจริง ๑ พูดสมัครสมาน ๑ พูดคำสุภาพระรื่นหูจับใจ ๑ พูดมีหลักฐานถูกต้องชอบด้วยกาลเทศะ ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

                มโนกรรม (กรรมทางใจ) นั้น คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขามาเป็นของของตนเอง ๑ คิดพยาบาทมุ่งร้ายเขา ๑ เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว เป็นอกุศล ไม่ดีไม่คิดอย่างนั้นและคิดเผื่อแผ่ ๑ คิดแผ่เมตตาจิตให้เขาอยู่เป็นสุข ๑ คิดเห็นชอบตามคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

=========

_/|\_ พุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา และอาจาริยบูชาค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
จำนวนข้อความทั้งหมด:  5
1
แสดงความคิดเห็น
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 1  « on 29/9/2554 19:14:00 IP : 125.24.47.95 »   
Re: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
 

_/|\_ ค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 30/9/2554 19:40:00 IP : 125.24.2.157 »   
Re: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
 

_/|\_ ค่ะ

 

<<พี่พรสิทธิ์ - สมเด็จท่านรจนาหนังสือธรรมะดี ๆ ไว้หลายเล่มทีเดียว”>>

นิ (ตามที่คุณรอนแรมเรียก) / นิดา (เรียกตัวเองแบบย่อ) / นิดาพรรณ (ชื่อเต็ม) (^_^) เข้าใจว่า ณ ที่นี้ อาจจะมีเพื่อนสมาชิกและท่านผู้อ่านทั่วไปสนใจในหนังสือธรรมะของสมเด็จท่าน ดังนั้น จึงขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลว่า นอกจากหนังสือ  ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ที่พี่พรสิทธิ์ได้แนะนำไว้แล้ว ซึ่งให้ความเข้าใจและปลูกศรัทธาในพระพุทธกิจตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์แล้ว ก็ยังมีเล่มอื่นๆ อาทิ

 

ถ้าสนใจเรื่องความสำคัญของชีวิต และชื่นชอบภาพเชิงพุทธศิลป์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ... ก็หนังสือ ชีวิตนี้สำคัญนัก ฉบับจัดพิมพ์โดยอัมรินทร์กรุ๊ป

 

ถ้าสนใจเรื่องจิตใจและความพลิกแพลงของกิเลสในจิตใจ ... ก็หนังสือ จิตตนคร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมดา ... สำนักพิมพ์เขียนคำนำในย่อหน้าที่ ๑-๒ ไว้ดังนี้ค่ะ (ในย่อหน้าที่ ๑) พระนิพนธ์เรื่อง จิตตนคร นี้ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่ออธิบายถึงความสำคัญของจิตหรือใจที่มีต่อความสุข ความทุกข์ในชีวิตของคน โดยทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องราวทำนองบุคคลาธิษฐาน ด้วยการใช้ถ้อยคำง่ายๆ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจเรื่องจิตและการปฏิบัติทางจิต เสมือนเป็นบุคคลที่มีการต่อสู้เพื่อชิงจิตตนครกัน ระหว่างสมุทัย อาสวะ กับบารมี (ในย่อหน้าที่ ๒) พระนิพนธ์เรื่องนี้ ถือเป็นวิธีอธิบายคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและทำความเข้าใจได้ยาก ให้อ่านง่าย เข้าใจได้ง่าย เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ...

 

ถ้าสนใจเรื่องสัมมาทิฏฐิอย่างละเอียดลึกซึ้ง ... ก็หนังสือ สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

 

เกี่ยวกับธรรมบรรยายของสมเด็จท่าน ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้เล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแนะนำแถบบันทึกเสียงการแสดงธรรมของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้แก่ท่าน ...พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่านแล้ว ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ ครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่า เป็นบันทึกเสียงการแสดงธรรมเรื่องฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น...เมื่อท่านได้ฟังจนจบม้วนแล้วก็ปรากฎแก่ใจว่า แถบบันทึกเสียงม้วนนั้นเป็นม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง

 

_/|\_ ขออนุโมทนาบุญแด่ทุกท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมนะคะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 3  « on 1/10/2554 8:17:00 IP : 125.24.30.14 »   
Re: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
 

_/|\_ ค่ะ (^_^)

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 4  « on 1/10/2554 18:40:00 IP : 125.24.23.53 »   
Re: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
 

_/|\_ ขอนอบน้อมแด่มงคลทีปนีธรรม ตลอดจนขออนุโมทนาและขอบพระคุณคุณรอนแรมซึ่งได้น้อมนำธรรมนั้นมาสู่ผู้อ่าน ณ ที่นี้ค่ะ

หนังสือ "พระอานนท์พุทธอนุชา" โดย อาจารย์วศิน อินทสระ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าแก่การศึกษาค่ะ เพราะไม่เพียงพร้อมด้วยสาระธรรมแก่ผู้อ่าน ยังพร้อมด้วยศิลปวัฒนธรรมทางภาษาที่งดงามอีกด้วยค่ะ

_/|\_ ขอกราบบูชาพระอานนท์ผู้ทรงเป็นพุทธอนุชา...พุทธอุปัฏฐาก...และทรงได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ๕ ประการค่ะ

 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
yingka

Posts: 50 topics
Joined: 9/11/2552

ความคิดเห็นที่ 5  « on 11/11/2557 10:17:00 IP : 114.109.30.197 »   
Re: เรื่อง "กรรม" ... เทศนาธรรมโดย สมเด็จพระญาณสังวรฯ
 

สาธุในธรรมทานที่คุณnidapan และคุณronram นำมาฝากด้วยค่ะ _/\_

ขอโอกาสนำพระสูตรสำคัญอันหนึ่งมาฝากไว้ เผื่อเพื่อนๆ สนใจติดตามหาอ่านกันค่ะ

ชื่อว่า "คิริมานนทสูตร"

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 7 Visits: 16,615,730 Today: 1,245 PageView/Month: 87,242