luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์  (Read: 12516 times - Reply: 7 comments)   
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
« Thread Started on 1/10/2554 8:26:00 IP : 125.24.30.14 »
 
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
จำนวนข้อความทั้งหมด:  4
1
แสดงความคิดเห็น
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 1  « on 1/10/2554 8:29:00 IP : 125.24.30.14 »   
Re: คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
 

ธรรมะ

- พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

- หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

- หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

- หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

*********

ที่มา - พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ ฉบับเผยแพร่บนเว็บ 84000.org (ต้นฉบับจากหนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม)

ลำดับ ๒๕๓ - วิธีสร้างปัญญา

ปัญหา วิธีปฏิบัติในหลักศีลและสมาธิปรากฏว่า มีแจ่มแจ้งอยู่แล้ว แต่วิธีเจริญหลักที่ ๓ คือ ปัญญา ยังไม่แจ่มแจ้งพอ ขอได้โปรดแนะวิธีเจริญปัญญาด้วย ?

 

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ไดเพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑

 

เธออาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์..... ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู.... นั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามเป็นครั้งคราวว่า.... ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผยทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันน่าสงสัยแก่เธอ.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒

 

เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓

 

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔

 

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น... ท่ามกลาง... ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕

 

เธอย่อมปรารถนาความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระกุศลธรรม นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖

 

"เธอย่อมเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่มีประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญให้ผู้อื่นแสดงบ้าง ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างอริยเจ้า นี้เป็นเหตุปัจจัยข้อที่ ๗"

 

เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูป.... ความเกิดขึ้นแห่งรูป ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา... สัญญา.... สังขาร... วิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ เพื่อได้ปัญญา...ฯ

 

ปัญญาสูตร อ. อํ. (๙๒) ตบ. ๒๓ : ๑๕๒-๑๕๔ ตท. ๒๓ : ๑๓๕-๑๓๗ ตอ. G.S. IV : ๑๐๔-๑๐๕

ลำดับ ๒๘๔  - ขันธ์ ๕ ควรเรียนรู้

ปัญหา ตามหลักพระพุทธศาสนา อะไรคือสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ ปริญญา ที่แท้จริงนั้นคืออะไร ?

 

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรเรียนรู้นั้นคืออะไร ? รูปเป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริญญาคือใคร ? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่า ปริญญา "

 

ปริญญาสูตร ขันธ. สํ. (๕๔)

ตบ. ๑๗ : ๓๓ ตท. ๑๗ : ๒๙

ตอ. K.S. ๓ : ๒๖

 

ลำดับ ๔๔๔  - ธรรมที่ควรรู้และทำให้แจ้งและทำให้เจริญ

ปัญหา ธรรมอะไรที่ควรกำหนดรู้ และกระทำให้แจ้งและทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ?

 

พุทธดำรัสตอบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือธรรมที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ รูป.... เวทนา.... สัญญา.... สังขาร.... วิญญาณ....

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรละด้วยปัญญายิ่งคืออะไร ? คืออวิชชาและภวตัณหา....

 

“....ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือ วิชชาและวิมุติ

 

“....ก็ธรรมที่ควรทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือ สมถะและวิปัสสนา

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ.... เพิ่มพูนอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงละธรรมที่ควรละ จึงทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง... จึงเจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง....

 

อาคันตุกาคารสูตร มหา. สํ. (๒๙๐-๒๙๕) ตบ. ๑๙ : ๗๗-๗๙ ตท. ๑๙ : ๘๓-๘๔ ตอ. K.S. ๕ : ๔๑-๔๒

 

ลำดับ ๔๖๗ - อะไรเกิดขึ้นในการเจริญสติปัฏฐาน

ปัญหา ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อะไรเกิดขึ้นบ้างและควรปฏิบัติอย่างไร ?

 

พุทธดำรัสตอบ ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่....ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่.... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่....ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่.... มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกาย....เห็นเวทนาในเวทนา....เห็นจิตในจิต....เห็นธรรมในธรรม.... อยู่ อารมณ์ทางกายย่อมเกิดขึ้นบางความเร่าร้อนในกายหรือความหดหู่จิตซัดส่ายจิตไปในภายนอกบ้าง...อารมณ์คือเวทนาย่อมเกิดขึ้นบ้าง... อารมณ์ทางจิตย่อมเกิดขึ้นบ้าง... อารมณ์คือธรรมย่อมเกิดขึ้นบ้าง..ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นนิมิตอันน่าเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต... ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อเธอมีปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ การย่อมระงับ เธอมีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่าเราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแก่เราแล้วบัดนี้ เราจะคุมจิตไว้ เธอคุมจิตไว้ และไม่ตรึกไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่าเราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติในภายในเป็นผู้มีความสุข ดังนี้...

 

ภิกขุณีสูตร ๑ มหา. สํ. (๗๐๗-๗๑๘) ตบ. ๑๙ : ๒๐๗-๒๐๘ ตท. ๑๙ : ๑๙๗-๑๙๘ ตอ. K.S. ๕ : ๑๓๕-๑๓๖

 

ลำดับ ๔๙๗ - วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

ปัญหา จะเจริญอิทธิบาท ๔ อย่างไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

 

พุทธดำรัสตอบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยสมาธิที่เกิดแต่ฉันทะ เกิดแต่วิริยะ เกิดแต่จิตตะ เกิดแต่วิมังสา และความเพียรเด็ดเดี่ยวดังนี้ว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป จักไม่เข้มข้นเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความเข้าใจในเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น...เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใดกลางคืนก็ฉันนั้น.... เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ย่อหย่อนเกินไปคืออย่างไร ? ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้านเจือปนด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า... ย่อหย่อนเกินไป

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เจือปนด้วยความฟุ้งซ่าน นี้เรียกว่า เข้มข้นเกินไป

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความหดหู่ง่วงซึม เจือปนคลุกเคล้าด้วยความหดหู่ง่วงซึม นี้เรียกว่า...หดหู่ในภายใน...

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไปเข้ายึดกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า...ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

ความเข้าใจในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว พิจารณาดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญาดีแล้ว ภิกษุชื่อว่ามีความเข้าใจในเบื้องหน้าและเบื้องหลัง...อย่างนี้...

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงไปมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ต่างๆ ... ภิกษุชื่อว่า มีความเข้าใจอยู่ว่าเบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น....อย่างนี้แล...

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิเกิดแต่ฉันทะ และความเพียรเด็ดเดี่ยวในกลางวัน ด้วยอาการ ด้วยลักษณะ ด้วยเครื่องหมายใด ในกลางคืน เธอย่อมเจริญอิทธิบาท ด้วยอาการ ด้วยลักษณะ ด้วยเครื่องหมายเหล่านั้น ภิกษุมีความเข้าใจอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น....อย่างนี้...

ความสำคัญหมายในแสงสว่าง (อาโลกสัญญา) ของภิกษุในศาสนานี้เป็นอันเธอยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญหมายว่าเป็นเวลากลางวันเป็นอันตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุ...อบรมจิตให้สว่างไสวอยู่อย่างนี้แล....

 

วิภังคสูตร มหา. สํ. (๑๑๗๙-๑๒๐๒ ) ตบ. ๑๙ : ๓๕๕-๓๖๐ ตท. ๑๙ : ๓๒๙-๓๓๓ ตอ. K.S. ๕ : ๒๔๘-๒๕๐

*********

ที่มา - ส่วนหนึ่งของธรรมะ จาก หนังสือ มุตโตทัย พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ... เรียบเรียงโดย พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร

* การปฏิบัติเป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์

* ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

* ตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น มูลมรดก ของบิดามารดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย

* มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน

* ใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด

* สติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน

* ผู้ที่จะพ้นทุกข์ทั้งหมด ล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรก ก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐานจึงมีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า ชัยภูมิ เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือ ปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา

* พระโยคาวจรเจ้าผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่งสิ่งสกปรกน่าเกลียดได้ สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง

* พิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วยโยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจน ก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริต จนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก

* การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอ จึงจะชื่อว่าทำให้มาก

ธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้เป็นไปตามสมมตินั้น เป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติ ด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด

* สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คืออาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาหากมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาอริยสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้ ... ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต ...

* คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรม แต่ปฏิบัติไม่ถูก หรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตาย จะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

*********

ที่มา- ส่วนหนึ่งของธรรมะ จากหนังสือ ธรรมโอวาท พระธรรมคติ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งจัดพิมพ์โดย ธรรมสภา (มปป.)

* จิตของเรามันไม่หยุด ให้มันนิ่งมันก็ไม่นิ่ง เที่ยวก่อภพน้อยๆ ใหญ่ๆ อยู่ตลอดเวลา ... ภวา ภเว สัมภวันติ

* ธรรมของพระพุทธเจ้า แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้นอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่ที่ไหนอื่น

* ธรรมะแปดหมืนสี่พันไม่ใช่อะไร รวมแล้วได้แก่ พระสูตร คือ ลมหายใจเข้า พระวินัย คือ ลมหายใจออก พระปรมัตถ์ คือ ผู้รู้ที่อยู่ข้างใน

* อยากรู้อะไรตามที่เป็นจริง ให้น้อมเข้ามาภายใน โอปนยิโก เพราะอะไรๆ มันเกิดจากภายใน มาจากภายใน

* ร่างกายคือต้นศาสนา กว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี่เอง นี่แหละ...ตู้พระธรรม แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ก็อยู่ในตู้นี่แหละ

* สรุปหัวข้อใจความในพระพุทธศาสนา คือ กายกับใจเป็นที่ตั้งแห่งมรรคผล

* ต้องพิจารณาดูให้มันรู้มันเห็น ไม่ต้องไปหาที่ไหนนะ ให้ดูสิ่งที่มีอยู่ในใจเรานี่หละ มันมืดหรือมันสว่าง นี่แหละ อัตตโน นาโถ เป็นที่พึ่งของตนแท้

*********

ที่มา - ส่วนหนึ่งของธรรมะ จากหนังสือ ธรรมโอวาท พระธรรมคติ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งจัดพิมพ์โดย ธรรมสภา (มปป.)

* เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของจริงมันมีอยู่ประจำอย่างนี้ มันหมุนเป็นกงจักรบดสัตว์โลกทั้งหลาย อยู่ประจำอิริยาบถ เจ็บแข้ง เจ็บขา ปวดหลัง ปวดเอว เจ็บไข้ได้ป่วย เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันแสดงให้เราดูอย่างนี้ เว้นแต่ เรามองไม่เห็นมันเท่านั้น

* ส่วนมาก จะตกอยู่ในอำนาจของสังขารมันปรุงมันแต่ง เป็นอดีต อนาคตไป ส่วนปัจจุบัน สัจธรรมที่เขาแสดงตัวให้ปรากฎอยู่ มันไม่ใคร่เอามานึกมาคิด ไม่เคยน้อมเข้าหากายหาใจของเรา มันคอยแต่จะเป็นธรรมเมาไป

* ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ก็นำออกให้หมด ทุกขสัจจมันก็เกิดขึ้นทับรูปกายของเรานี้ เจ็บแข้ง เจ็บขา เจ็บหลัง เจ็บเอว กำหนดเข้า ให้รู้เท่าสังขารที่มันปรุงแต่ง มันเกิดมันดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดอยู่นี่แหละ ทุกขสัจจมันก็เกิดอยู่นี่แหละ

* นำออกจากใจเสีย ให้มันผ่องใสสว่าง รู้เท่าทันเหตุ ดับไป มันก็รู้แจ้งมรรค รู้แจ้งก็รู้แจ้งอยู่ภายในนี่แหละ จะไปรู้แจ้งที่ไหน รู้แจ้งอันนี้หมดแล้ว ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันก็แล้วหมด รู้อย่างอื่นไม่ชื่อว่ารู้หมดรู้ทั่ว ต้องรู้จักตนเอง กายใจของตนเองนี้แหละ รูปอย่างอื่นที่มีอยู่ก็เป็นอย่างเดียวกับกายนี้ รู้ความจริงอันเป็นสัจธรรมแล้ว ความทุกข์ ความเดือดร้อนก็ไม่มี อันนี้ก็คือที่สุด

* ทำให้มันเห็นของดี จำได้ไหม? นี่ไม่ได้พูดเล่นนะ ให้จับลมกับกายนี้ กายนี้ให้เห็นเป็นกายพระธรรมให้ได้ มีหูฟังแล้ว ก็ให้มันเป็นพระธรรม ตาให้เป็นตาพระธรรม กายให้เป็นกายพระธรรม ใจก็ให้เป็นใจพระธรรม ทำให้มันได้ ให้มีพุทโธอยู่กับกายนี้ใจนี้ จำไว้ที่ใจ จำได้ไหม จำดีๆ อย่าไปลืมนะ ไม่ต้องไปรู้ที่อื่น มันอยู่ในกายนี้ กายนี้แหละมันเป็นทุกข์

*********

ที่มา - ส่วนหนึ่งของโอวาทธรรม พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน จากหนังสือ พลังเหนือโลก ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๒๔

* ผู้มีความมุ่งหน้าพยายามแก้ไขตนให้พ้นจากทุกข์ในชาติปัจจุบันนี้ จะไม่ขอมาสู่กำเนิดอันเป็นภพเกิด แล้วต้องตายในโลกทนทุกข์ทรมานนี้แล้ว ผู้นั้นโปรดมีเข็มทิศคือใจมุ่งมั่นต่อความเพียร การรักษาศีลก็ไม่มีสิ่งใดจะรักยิ่งไปกว่า แม้ชีวิตจิตใจก็ยอมพลีได้เพื่อศีลที่รักยิ่งนั้น ไม่ยอมล่วงละเมิดฝ่าฝืนทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ทางด้านสมาธิคือการอบรมใจเพื่อความสงบปราศจากข้าศึกอันเป็นเหตุบ่อนทำลายความสุขภายในใจ ก็พยายามอบรมให้เกิดมีขึ้นด้วยความเพียรไม่ลดละ การอบรมใจเพื่อความสงบจะกำหนดอาการส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย หรือจะกำหนดใจตามรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ดี จะกำหนดธรรมบทใดบทหนึ่งมีพุทโธเป็นต้น ที่ถูกกับจริตของตนก็ดี หรือจะกำหนดลมหายใจเข้าออกซึ่งปรากฏอยู่กับตัวทุกขณะก็ดี จงเป็นผู้มีสติรอบคอบ รอบรู้กับอาการแห่งธรรมที่กำหนดพิจารณาอยู่จนปรากฏเป็นปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม คือจิตกับสัมปยุตกันอยู่ด้วยสติทุกขณะที่ทำการอบรมอย่าให้พลั้งเผลอ จนปรากฏว่าจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน ไม่มีการแตกแยกจากกันแม้ขณะเดียว จะเป็นไปเพื่อความสงบและพ้นทุกข์ไปโดยลำดับในชาตินี้โดยไม่ต้องสงสัย ที่อื่นที่เป็นสถานที่รองรับโดยถูกต้องนั้นจะไม่มีนอกไปจากหลักศีล สมาธิ ปัญญา ที่ทำงานอยู่ในวงแห่งธรรมดังกล่าวแล้ว

* คำว่าให้ถือหลักปัจจุบันเป็นหลักสำคัญนั้น คือให้พิจารณาสภาพที่มีอยู่กับตัวเรา จะทุกส่วนหรือแต่บางส่วนด้วยความสนใจจริงๆ อย่าได้ถือ ความขาดสติเครื่องจดจ่อและปัญญาเครื่องใคร่ครวญ ว่าเป็นของมีคุณค่ายิ่งกว่าการส่งเสริมธรรมเหล่านี้ให้มีกำลังกล้าขึ้นเป็นลำดับ ในขณะเดียวกัน การขาดธรรมคือสติปัญญาทั้งสองประเภทนั้นจะกลายเป็นโมฆะในวงความเพียรขึ้นมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ ผู้มีสติปัญญากำกับอยู่ในวงปัจจุบันมากน้อยเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรติดต่ออยู่ตลอดเวลาเท่านั้น

* จิตจำต้องรู้เรื่องของตัวเอง เรื่องที่เกี่ยวกับตัว เป็นลำดับ

* จิตที่คิดไปในทางเผลอเรอที่เคยเป็นมาแล้วโดยไม่มีหลักฐานและธรรมเครื่องคุ้มครองรักษา จิตนั้นเป็นไปเพื่อการสั่งสมกิเลส

* คำว่า กาย มีเต็มบริบูรณ์อยู่กับตัวของเรา ล้วนแต่ กายาสติปัฏฐาน เวทนา ความสุข ทุกข์ เฉยๆ แสดงอยู่ทั้งวันทั้งคืน จิตผู้รับรู้เรื่องของกายและของเวทนาอยู่ตลอดเวลาไม่มีหลับและตื่น ธรรมคืออาการของทุกส่วนเวทนาในกายและในจิต ตลอดจนอาการของจิตทุกอาการที่เกี่ยวข้องกับจิต ทั้งภายนอกภายใน รับสัมผัสกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน รวมเรียกว่า สติปัฏฐานสี่ เหล่านี้ไม่มีบกพร่องที่ตรงไหน สิ่งที่บกพร่องในขณะนี้ก็คือความสนใจต่อเรื่องสติปัฏฐานสี่เท่านั้น หากสนใจต่อตัวเอง สติปัฏฐานสี่ซึ่งเป็นเรื่องของตัวจำต้องกระเตื้องขึ้นมาในมโนทวาร โดยไม่มีอะไรปิดบังไว้ได้ สามารถรู้ได้ด้วยปัญญาทุกอาการของสติปัฏฐาน เพราะธรรมทั้งสี่นี้เกี่ยวโยงถึงกัน และถอดถอนให้พ้นจากสิ่งที่เคยเกี่ยวข้องกันมาเป็นเวลานาน กลายเป็นเอกจิตเอกธรรมขึ้นมาภายในใจเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกอรหันต์ เพราะเดินสายเดียวกัน ลักษณะการปฏิบัติและพิจารณาก็ยึดเอาสถานที่และแนวทางอันเดียวกัน ผลที่ปรากฏจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ฉะนั้น โปรดนำความเข้าใจต่อทางดำเนินที่ถูกต้อง คือ สติปัฏฐานสี่ อย่าปล่อยให้ธรรมทั้งสี่นี้เป็นโมฆะในเราไปนานนักเลย จะตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เป็นประโยชน์อันใด โปรดใช้กาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นเครื่องซักฟอกจิตใจและเป็นหินลับปัญญาให้คมกล้า จนสามารถแยกกาย เวทนา จิต ธรรม นี้ออกจากใจได้โดยเด็ดขาดและพ้นทุกข์ไปได้โดยสิ้นเชิง

* พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในอินเดีย ถ้าจะคิดตามสถานที่ที่ตัสรู้แล้ว รู้สึกไกลมากแทบจะพูดได้ว่า คนละมุมโลกกับโลกที่พวกเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เมื่อคิดตามหลักความจริงโน้น ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันกับพวกเราที่กำลังนั่งเฝ้าสติปัฏฐานสี่และอริยสัจจ์สี่อยู่ขณะนี้ เพราะพระกายของพระพุทธเจ้า และกายพระสาวกท่าน กับกายของเรา เป็นกาย คือ เรือนสติปัฏฐานสี่และอริยสัจจ์สี่เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องของพระพุทธเจ้าและพระสาวกกับเรื่องของพวกเขาเราดำเนินให้เป็นไปอยู่ ไม่ปรากฏมีแปลกต่างกันที่ตรงไหน การปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมปฏิบัติที่กายวาจาใจอันเดียวกัน การอบรมสมาธิเพื่อความสงบใจก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน เพราะกิเลสมีประเภทเดียว และมีอยู่ที่ใจเดียวกัน ไม่ว่าใจของคนเมืองไหนและชาติใด ย่อมนับวันจะหายพยศปรากฏเป็นความสงบสุขขึ้นมาเพราะเป็นใจที่รอรับเหตุผลดีชั่วด้วยกัน ขอให้มีธรรมเป็นเครื่องอบรมเท่านั้น

* สติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ดี จึงเป็นธรรมที่ทนต่อการพิสูจน์ และเป็นธรรมเครื่องดำเนินให้ถึงความพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ทั้งเวลาพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และปรินิพพานไปแล้ว

* จงหาอุบายวิธีเพื่อรู้เรื่องของทุกข์ให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญา อย่าให้เสียเวลาและเปล่าประโยชน์จากอิริยาบถและลมหายใจ เพราะชีวิตนี้จะไม่ยั่งยืนถาวรไปถึงไหน ก้าวไปขณะใด ล้วนมีความแปรสภาพและดับสลายติดตามไปด้วยทุกระยะ ไม่เคยปล่อยให้อิริยาบถและลมหายใจดำเนินไปโดยอิสระเสรีแม้แต่ขณะเดียว ผู้ประมาทเพราะขาดการสังเกตกองทุกข์มหาศาลในตัวเองจะไม่ได้รับประโยชน์จากชีวิตและลมหายใจที่เข้าออกนี้เลย จะตายทิ้งเปล่าเหมือนท่อนไม้ ท่อนหิน แม้จะผ่านความเกิดตายมากี่ครั้ง จำต้องเป็นลักษณะเกิดตายเปล่าไปเสียทั้งชาติ ไม่อาจจะทำแม้วัฏฏะส่วนย่อยๆ ให้น้อยลงได้จากชีวิตซึ่งกำลังมีราคานี้เลย ส่วนผู้ไม่ประมาทชอบอ่านเรื่องของตัวเองเสมอ หายใจออกก็มีกำไร หายใจเข้าก็ไม่ขาดทุน ทั้งได้สติและความรู้ความฉลาดจากลมหายใจและร่างอันไม่เป็นสาระแก่นสารนี้ เฉพาะอย่างยิ่งเราทุกท่านเป็นนักปฏิบัติโปรดตรวจตรองดูสติปัฏฐานสี่และอริยสัจจ์สี่ของตนให้รอบคอบ เพราะไม่กว้างยาวและลึกซึ้ง เลยกายกับใจและความสามารถของผู้สนใจใคร่จะรู้ไปได้เลย เพราะธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่เลยภูมิของมนุษย์ผู้ประสงค์อยากรู้ด้วยความสนใจไปได้

* โปรดทราบอย่างง่ายๆ ว่า ทุกข์อยู่ที่ไหน ธรรมเครื่องพ้นทุกข์ก็อยู่ที่นั่น สมุทัยอยู่ที่ไหน ธรรมเครื่องแก้ก็อยู่ด้วยกัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่าเข้าใจว่ามีนอกไปจากเราผู้ฟังและปฏิบัติอยู่ขณะนี้ โปรดพิจารณาอยู่ในวงสติปัฏฐานสี่และอริยสัจจ์สี่ซึ่งรู้เห็นอยู่กับตัวเรานี้แลจะเป็นความสะดวกและราบรื่น สติปัญญาที่เราประสงค์และแสวงหาอยู่ทุกวันเวลาจะไม่ต้องไปหาซื้อมาจากห้างร้านใดๆ แต่จะปรากฏขึ้นจากวงของธรรมดังกล่าวนั้นเป็นลำดับ นับแต่ขั้นสติธรรมดา ขั้นปัญญาธรรมดา จนกลายเป็นขั้นมหาสติ มหาปัญญา มีความสามารถแกล้วกล้าต่อการพิจารณาสิ่งที่เกิดจากตัวเองได้ทุกเวลา ก็เมื่อสติปัญญาได้แปรสภาพขึ้นสู่ความเป็นมหาสติมหาปัญญาแล้ว กิเลสอาสวะจะซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสามารถจะแทงทะลุปรุโปร่งไปหมด ไม่มีสิ่งใดปิดบังและกีดขวาง

*********

_/|\_ พุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา อาจาริยบูชา

 

ครูบาอาจารย์ ท่านสอนลง ไว้ตรงกัน พระธรรมนั้น มีอยู่ในกายใจตน เพียรฝึกฝน ค้นคิดพิจารณา

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
น้อง

Posts: 5 topics
Joined: 17/3/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 1/10/2554 13:17:00 IP : 124.120.22.167 »   
Re: คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
 

สาธุ สาธุ สาธุ เกี่ยวเนื่องละเอียดเป็นเริ่องเดียวกัน สาธุ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 3  « on 1/10/2554 18:46:00 IP : 125.24.23.53 »   
Re: คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
 

_/|\_ ขออนุโมทนาแด่ทุกท่านผู้ใฝ่ใจในธรรม และขอขอบพระคุณคุณเมธาและคุณน้องค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 4  « on 2/10/2554 20:18:00 IP : 125.24.12.160 »   
Re: คำสอนของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์
 

_/|\_ ค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 7 Visits: 16,615,760 Today: 1,274 PageView/Month: 87,271