luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล   (Read: 23265 times - Reply: 15 comments)   
Aimee2500

Posts: 44 topics
Joined: 14/12/2552

วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
« Thread Started on 30/1/2555 1:22:00 IP : 81.159.57.99 »
 

ใน การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ในบางครั้งก็มีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเกิดการหลงผิดบ้างก็มี ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำและช่วยแก้ไขแก่ลูกศิษย์ลูกหาได้ทันท่วงที ดังตัวอย่างที่ยกมานี้
มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดปัญหาเกี่ยวกับ “วิปัสสนูปกิเลส” ซึ่งหลวงปู่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อได้ทำสมาธิจนสมาธิเกิดขึ้น และได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบพอสมควรแล้ว จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่สมาธิส่วนลึก นักปฏิบัติบางคนจะพบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งมี ๑๖ อย่าง มี “โอภาส” คือ แสงสว่าง และ “อธิโมกข์” คือ ความน้อมใจเชื่อ เป็นต้น
พลังแห่งโอภาสนั้นสามารถนำจิตไปสู่สภาวะต่างๆได้อย่างน่าพิศวง เช่น จิตอยากรู้อยากเห็นอะไรก็ได้เห็นได้รู้ในสิ่งนั้น แม้แต่กระทั่งได้กราบได้สนทนากับพระพุทธเจ้าก็มี
เจ้าวิปัสสนูปกิเลสนี้มีอิทธิพลและอำนาจ จะทำให้เกิดความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรง โดยไม่รู้เท่าทันว่าเป็นการสำคัญผิด ซึ่งเป็นการสำคัญผิดอย่างสนิทสนมแนบเนียน และเกิดความภูมิใจในตัวเองอยู่เงียบๆ บางคน ถึงกับสำคัญตนว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยซ้ำ บางรายสำคัญผิด อย่างมีจิตกำเริบยโสโอหังถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นบ้าวิกลจริตก็มี
อย่างไรก็ตาม วิปัสสนูปกิเลสไม่ได้เป็นการวิกลจริต แม้บางครั้งจะมีอาการคล้ายคลึงคนบ้าก็ตาม แต่คงเป็นเพียงสติวิกล อัน เนื่องจากการที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก แล้วสติตามควบคุมไม่ทัน ไม่ได้สัด ไม่ได้ส่วนกันเท่านั้น ถ้าสติตั้งไว้ได้สัดส่วนกัน จิตก็จะสงบเป็นสมาธิลึกลงไปอีก โดยยังคงมีสิ่งอันเป็นภายนอกเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง
เช่นเดียวกับการฝึกสมาธิของพวกฤาษีชีไพรที่ใช้วิธีเพ่งกสิณ เพื่อให้เกิดสมาธิ ในขณะแห่งสมาธิเช่นนี้ เราเรียกอารมณ์นั้นว่า ปฏิภาคนิมิต และเมื่อเพิกอารมณ์นั้นออกโดยการย้อนกลับไปสู่ “ผู้เห็นนิมิต” นั้น นั่นคือย้อนสู่ต้นตอคือ จิต นั่นเอง จิตก็จะบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ อันเป็นสมาธิจิตขั้นสูงสุดได้ทันที
ในทางปฏิบัติที่มั่นคงและปลอดภัยนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านแนะนำว่า “การ ปฏิบัติแบบจิตเห็นจิต เป็นแนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้น และบรรลุเป้าหมายได้ฉับพลัน ก้าวล่วงภยันตรายได้สิ้นเชิง ทันทีที่กำหนดจิตใจได้ถูกต้อง แม้เพียงเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์อีก”
ตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส  คือกรณีของท่านหลวงตาพวง และกรณีของท่านพระอาจารย์เสร็จ
ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ “หลวงตาพวง” ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิก สำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึก ตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวัน ตลอดคืน
พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิดเชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน ดังนั้น หลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง
หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่าง หมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียก หลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง
ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์.....” ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ
สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตาม ธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า
“หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”
ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีก “อ้าว ! ไม่เห็นกราบท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ”
เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ
หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วย เมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”
หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเรา พระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่
ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิง คล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร” หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ
เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่น ที่พระอุโบสถ”
ท่านเณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ ไปเรียกพระ องค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน
หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตา นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่ง สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้วไม่สำเร็จ
หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธ หลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”
ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวร และกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ซึ่งอยู่ห่างจาก วัดบูรพารามไปทางใต้ประมาณ ๓ - ๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น
ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมา อย่างน่าขำว่า “เออ ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้า เอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลด ของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม
ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่านี่เอง อาการ ของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของ สติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความ โกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับ ได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้ พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง
เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติ เพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความ ละอายใจเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมาขอขมาหลวงปู่ กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น
หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า “สิ่ง ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบ การปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”

คัดลอกมาจาก :

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6839

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=225

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จำนวนข้อความทั้งหมด:  9
1
แสดงความคิดเห็น
พลอยสวย

Posts: 16 topics
Joined: 9/10/2554

ความคิดเห็นที่ 1  « on 30/1/2555 8:33:00 IP : 125.26.91.46 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

จิตที่ส่งออกนอก  เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น..........เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว...........เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง...............................เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มใส..................เป็นนิโรธ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 30/1/2555 9:32:00 IP : 58.8.6.64 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

แม้นิมิตแห่งโอภาสมีจริง

แต่ก็สุ่มเสี่ยงเต็มที่..

ปัจจุบันนักปฏิบัติภาวนาจึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลายคน

เฝ้าไปเฝ้ามา.กลายเป็นผู้วิเศษไปก็มากหลาย

เป็นผู้วิเศษแล้ว เจโตฯแม่นยำแล้ว แต่ก็ยังเล่นเน็ต (ในหน้ากระดานอื่นๆ)

ทะเลาะเบาะแว้ง อวดอ้างความเก่ง อวดกิเลสใส่กัน

หนักข้อเข้า..ตั้งต้นเป็นผู้สำเร็จ เป็นอาจารย์ของอาจารย์ ใครนั่งภาวนาไม่เห็นแสง เป็นผิด ใครนั่งแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บุญวาสนายังไม่พอ บ้างว่าของเก่าทำมาน้อย...ประมาณนั้น

โอ้...เจ้าวิปัสสนูกิเลสนี่..น่ากลัวจริงๆหนอ..

เริ่มต้นผิด...ฝังรากแล้ว.. แก้กันยากทีเดียว

เอากันที่อารมณ์แห่งกองลม ฤาคำภาวนา

ดูท่าจะปลอดภัยกว่าละมั้ง..(แม้จะไม่ได้ขึ้นเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วิมารแก้ว ก็ตาม)

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 3  « on 30/1/2555 22:02:00 IP : 58.8.6.64 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

ประมาณนั้น ประมาณนั้นครับคุณพี่สิทธิ์..

คงเหมือนกับคุณฐายิณีว่า "หดหู่ใจที่เดียวครับ"

แลเห็นโทษภัยแห่งการเริ่มต้นผิด มากที่เดียว

------------------------------------------------------------------

ความจริงแล้ว ผู้สนใจปฏิบัติภาวนากรรมฐาน

ต่างได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธา ผู้มีความปราถนาดี เหล่าคนดีด้วยกันทั้งนั้น

แต่เพราะความหลงก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี แหล่งปฏิบัติผิดที่ผิดทางก็ดี

เลยกลายเป็นเข้าลกเข้าพงไป  น่าเห็นใจที่เดียวครับ

------------------------------------------------------------------

หลงอะไรยังพอแก้ได้ แต่หลงที่วิปัสสนูกิเลสนี่..แก้ยากจริงๆครับ

น้อยคนจริงๆที่จะกู่กลับได้...ปราชญ์บางท่านว่ายากกว่าผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ซะด้วยซ้ำ

ครูบาอาจารย์พระป่าผู้ใหญ่หลายๆองค์ ที่ผมเคยได้กราบท่าน ยังบอกว่า..ถึงที่สุดแล้วก็ต้องปล่อยเขาไป..

"..ธรรมะไม่ใช่ของง่ายเลยหนอ.."..

------------------------------------------------------------------

สาเหตุแห่งวิปัสสนูกิเลสส่วนหนึ่ง เท่าที่ประสบการ์ณเคยพบ (เพื่อนๆนักปฏิบัติ)

มักเริ่มจากเป็นผู้อ่านมาก จดจำได้มาก โดยเฉพาะข้อความในปิฏกทั้งสาม ถือว่าแม่นมาก สามารถยกแต่ละบทแต่ละตอนขึ้นหักล้าง โต้เถียงได้ไม่ผิดเพี้ยน

แลด้วยความอ่านมาก คิดมาก ตีความมาก โดยขาดซึ่งครูบาอาจารย์(ภาคปฏิบัติ) ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้ (ธรรมถลึก)

การตีความเอง เข้าใจไปเอง

หลายๆอย่าง จึงกลายเป็นซึ่ง "ความหลง"

------------------------------------------------------------------ 

นานเกือบๆ 20 ปีแล้วยังจำได้..

ครั้งหนึ่งได้กราบครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ พระป่ากรรมฐานองค์หนึ่ง ก่อนที่ท่านจะสงขาร ด้วยความเป็นวัยรุ่น อ่านประวัติเกจิอาจารย์ภาคปาฏิหารย์มามาก ก็อยากมีฤทธิ์มีเดชมีอภิญญากับเขาบ้าง

ความคะนองฤทธิ์ กราบเรียนถามท่านเลยว่า

"หลวงปู่ฯครับ ผมอยากเรียนกสินครับ"

ยังจำแววตาท่านได้ แทนที่ท่านจะหมั่นไส้เรา ท่านกลับยิ้มด้วยความเมตตา แล้วว่า..(แปลจากภาษาอีสาน เป็นภาษาไทยกลาง ใจความว่า..)

เอากองลมก่อนไม่ดีกว่าเหรอ กองลมยังไม่ได้จะไปกองน้ำ กองไฟ กองอากาศกันซะแล้ว

เพราะกองลมเพียงเบื้องต้นยังไม่ได้ ก็ว่าไม่ถูกจริต..ขึ้นบันได้ชั้นแรกไม่ได้ ก็จะโดดไปชั้นสามชั้นสี่ซะแล้ว..

ระวังหนอ..มันจะกลายเป็นน้ำกิเลส ไฟกิเลส อากาศกิเลส ไปซะนั้น

จำได้คร่าวๆแค่นี้ครับ..

-----------------------------------------------------------------

ความจริงในภาคปฏิบัติหากไม่ขยายความให้วุ่นวายนัก เพียงแค่กองลม หรือคำภาวนา ไม่ต้องว่าถึง 40 กอง

น่าจะเป็นที่เพียงพอแล้ว เป็นทางเอกแล้ว ไม่ต้องหาจริตให้วุ่นวาย หาไปหามา ก็พอดีหากันไม่เจอสักที..

โดยความเห็นสำหรับผม ผู้มีความรู้น้อย..เห็นน้อย มีความเห็นว่า

แค่การกำหนดสติให้นิ่ง..อย่าแสส่าย..

ตามดูกองลม หรือตามดูคำภาวนา..รู้เท่านี้พอแล้ว อย่ารู้มาก ยิ่งรู้มากยิ่งหาความสงบไม่เจอ..

จากนั้นให้เขาเป็นของเขาเอง..อย่าเรียนรู้มาก อย่าจดจำเป็นสัญญาจำได้หมายรู้มากไป ยิ่งมากยิ่งหาความสงบไม่เจอ

หาความสงบให้พบก่อน (สมถะ) จะมาร่ำเรียนไตรปิฏกที่หลังก็ไม่สาย

เรียนแล้ว เข้าใจแล้ว เข้าใจหลักเข้าใจเกณฑ์แล้ว จะนำไปใช้ต่อสู้ห่ำหันกับกิเลสในภูมิวิปัสสนาก็ว่ากันไป

เพราะสมถะแข็งแรงดีแล้ว จึงมีความปลอดภัยพอสมควรที่จะก้าวเข้าสู่ภูมิชั้นสูงต่อไป

------------------------------------------------------------------

เท่านี้เองครับสำหรับการภาวนา ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย

ทำไปเรื่อยๆ นานวันเข้า จะเข้าใจได้เองว่า

จิตเห็นจิต สติเห็นจิต จิตเห็นสติ สติเห็นสติ มีสภาพเป็นเช่นไร

ต่างคือตัวเดียวกัน

จบแค่ไหนจริงๆ สำหรับการภาวนา

------------------------------------------------------------------

(ต้องขออภัยน่ะครับ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ของผู้น้อยผู้ปฏิบัติแต่เพียงเบื้องต้นคนหนึ่ง หากไม่ถูกจริตกับนักปฏิบัติท่านใด ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ทีนี้ด้วยครับ)

------------------------------------------------------------------

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 4  « on 31/1/2555 8:18:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณธุลีดินครับ

ผมก็นึกเสียดายเพื่อนที่เคยร่วมปฏิบัติกันมาหลายคน
คำว่าฤทธิ์อภิญญานั้นมันมีมนต์เสน่ห์ เป็นเหมือนไฟดึงแมลงเม่าเข้าไปสู่
ผมเคยกล่าวไว้ในที่หลายแห่งว่าดูพระเทวทัตสิ มีฤทธิ์ถึงขนาดว่าเหาะได้ด้วยกายเนื้อ ทำเอาพระเจ้าอชาตศัตรูเกิดศรัทธา สุดท้ายเป็นอย่างไร เหาะไม่พ้นนรก อย่างเรา ๆ จะมีอะไร แค่เห็นนิมิตมีอาการของจิตที่แปลก ๆ ปรากฏ ...ยังเหาะไม่ได้อย่างพระเทวทัตเลย แล้วฤทธิ์อย่างนี้ จะน่าหลงใหลที่ตรงไหน

หรือแม้แต่คำว่าพุทธภูมิ ผมก็เคยเขียนเล่าไว้ว่า "ฆ่าความดีของตนเพราะคำว่าพุทธภูมิ"  แค่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยากลำบากแล้ว จะมาพากันเป็นพระพุทธเจ้ากันยกใหญ่ จริง ๆ แล้วถ้าจะมีปฏิปทากันอย่างนั้นก็เป็นของดีอยู่ มิใช่ไม่ดี แต่ถามว่าเรามีปฏิปทากันอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า ที่จะเสียสละได้อย่างพระองค์ ทำความดีอย่างที่ในหลวงทำ คือไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเลย มีแต่เสียสละ เสียสละ มิใช่ เอา เอา เอา เอาชื่อเสียง เอาลาภสักการะ เอาความสะดวกสบาย ฯลฯ

บางคนปฏิบัติไป ๆ ไปกราบฤาษีเสียฉิบ ปฏิบัติไป ๆ ไปพึ่งคนทรง คนทำคุณไสย์ ...นี่หรือผู้มุ่งตรงต่อพุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ระกา

Posts: 0 topics
Joined: 11/11/2553

ความคิดเห็นที่ 5  « on 31/1/2555 12:14:00 IP : 202.28.25.165 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

ขอบคุณคุณธุลีดินมากครับ ตอนนี้ผมเองก็ปฏิบัติที่จะสัมผัสกับแสงจากพระ

ที่กำภาวนา ปิดตาก็รู้สึกสว่าง ลืมตาขณะที่ให้สิ่งแวดล้อมมืดก็สัมผัสด้วยตาเนื้อ

ว่ามีความสว่างออกมา จากองค์พระที่กำ อ่านบทความนี้แล้ว ทำให้ผมเข้าใจว่า

สิ่งนี้ไม่ควรยึด แต่ใช้เป็นกำลังใจในการปฏิบัติ และจดจำเอาไว้ว่า เราวางจิตอย่างไร

จึงเกิด เพื่อใช้เป็นเส้นทางไปสู่การมีสติที่ละอียดอ่อนยิ่งขึ้น สิ่งนี้ เห็นก็รู้ว่าเห็น

พอเขาเกิด เขาอยู่ แล้วเขาก็ดับ เท่านี้เองเอง ใช่ไหมครับ

ผมเข้าใจถูกไหมครับ  สาธุกับข้อความดีๆครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 6  « on 31/1/2555 15:18:00 IP : 58.8.14.248 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

จากบทความของคุณระกา..ผมต้องขออนุญาติต่อคุณพี่สิทธิ์ และ อ.เมธา เพื่อแสดงความคิดเห็น ผลจากการที่ผมได้เคยปฏิบัติมาบ้าง แต่ขอย้ำว่าเป็นแต่เพียงผู้ปฏิบัติเบื้องต้นคนหนึ่ง มิได้เก่งกล้าสามารถใดขนาดพอจะเป็นอาจารย์หรือผู้แนะนำได้น่ะครับ ถือว่าเป็นการแบ่งปันข้อมูลกันในหมู่ผู้ปฏิบัติน่ะครับ 

** "..การนั่งภาวนาสมาธิ หากต้องการนั่งให้ถึงซึ่ง "ความสงบ" อย่างแท้จริง จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย เพียงตัดสิ่งรกรุงรัง ซึ่งเราเรียกว่าของ "ภายนอก" ทั้งหลายทั้งปวงออกให้พ้นเสียหมดจากจิตใจ (ตัดให้ขาดอย่างแท้จริง.. ไม่เอาเลย ).."  

สิ่งที่เคยได้จากการอ่าน การฟัง การพูดก็ดี เรียกว่าตัวสัญญา ตัดออกทิ้งให้หมด อย่างเสร็จสิ้นเด็ดขาด ไม่เอาเลยกับของพวกนั้น เรียกว่าตัดแบบชั่วคราว

เมื่อเริ่มนั่งไปชั่วขณะหนึ่ง หากเห็นเป็นแสง ลูกไฟ ดวงไฟ ดวงแก้ว รูปพระพุทธรูป ตัวโยก ตัวลอย ตัวเบ่ง ตัวบาน เห็นหน้าผี หน้าเทวดา หรืออะไรต่างๆก็ตาม ให้รู้ว่านั้นไม่ใช่ของจริง เป็นแค่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง กับอุปาทานจิตที่แอบฝังอยูในจิตส่วนลึกอีกหนึ่ง เหมือนกับการที่เราฝันเมื่อเราจมลึกกับความนึกคิดซ้ำๆในเรื่องนั้นๆ บ้างครั้งฝันนั้นก็เหมือนกับเรื่องจริงมากๆ

เมื่อตั้งใจจะตัดของพวกนั้นออกจากจิตจากใจจริงๆแล้ว ก่อนนั่งก็กำหนดไว้เลยว่า ฉันจะไม่เอาแล้วน่ะ กับสิ่งภายนอก สิ่งไร้สาระพวกนั้น ไม่เอาอย่างเด็ดขาด ฉันเสียเวลาช้าเนิ่นนานมาก็กับของพวกนั้น 

ขณะนั่งไปหากมีปรากฏการ์ณพวกนี้เกิดขึ้นก็เฉยๆ ไม่ต้องให้ความสนใจเขาแม้แต่น้อย อย่าไปตกใจ สะดุ้ง สะเทือน หรือปล่อยจิตตามดูสิ่งภายนอกเหล่านั้น (จะยิ่งไปกันใหญ่ นานไปจะกรู่ไม่กลับ หลงเข้ารกเข้าพงไปเลย ในสมาธิขั้นเบื้องต้นนี้) สักครู่ก็หายไปเอง นั่งภาวนาใหม่ๆอาจมีเข้ามาบ้าง แต่นั่งต่อไปนานวัน นานปี จิตเขาไม่รับแล้ว ไม่เอาแล้ว ก็จะไม่มาหลอกล่อ มาปรากฏให้เห็นอีกเลย (ไม่มีเรื่องเก่าใดฝังในจิต ก็ไม่มีอุปาทาน) 

สรุปสมาธิจริงๆ จึงมีเพียงเรื่องเดียว คือ ให้ตัดอย่างเด็ดขาดกับของภายนอก ให้สติอยู่ติดกับเพียงคำภาวนา หรือ กองลมเข้า-ออก หรือ คำภาวนา+กองลม ตามแต่ถนัด ตามแต่ความชำนิชำนาญของแต่ละคน  ให้ตามติดอย่างจริงๆ อย่างถึงอกถึงใจ มันก็เท่านั้น  

เมื่อจิตถึงความสงบอีกขั้นหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องบอก ต้องกล่าวแนะนำอะไรเลย ยิ่งบอกรสชาติล่วงหน้าก็ยิ่งเป็นโทษ เพราะผู้ภาวนาจะไปยึดติดเป็นตัวสัญญาจำได้หมายรู้อีก เมื่อมีสัญญาก็เลยมีความ "อยาก" และมีความอยากแม้เพียงเล็กน้อย เช่น อยากสงบ อยากรู้รสชาติความสงบอย่างนั้นอย่างนี้ (ตามที่ได้ยินมา)   จิตมีความอยาก แม้กระเพื่อมเพียงเล็กน้อย ก็ไม่อาจไปได้สุดทางซึ่ง" ฐานจิต " อีก  ในขั้นนี้จึงต้องปล่อยให้เขาเป็นของเขาเอง อย่าไปยุ่งใดๆ เขาอยากให้หยุดภาวนาก็หยุด อยากให้หยุดตามลมก็หยุด อย่าไปวุ่นวายกับเขา ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเขาเอง

เมื่อจิตดิ่งลงซึ่งฐานจิต ก็จะรู้รสชาติเองว่า จิตขั้นนี้มีสภาพเป็นเช่นไร คำว่าสักแต่รู้ สักแต่ได้ยิน มีสภาพเช่นไร แตกต่างกับการนอนหลับเฉยๆอย่างไร ทุกอย่างรู้ได้เอง ไม่ต้องไปเรียน ไปฟังใครสอนแต่อย่างใด

อนึ่งสมาธิทั้งหมดในขั้นนี้ เมื่อถึงแล้ว ได้แล้ว ก็ให้รู้ว่ายังเป็นเพียงขั้น"สมถะ" เท่านั้น ยังเอาไปใช้ประโยชน์ใดไม่ได้ ซึ่งความจริง รสชาติความสงบนี้ จะว่าไปก็น่าหลงใหลซะจริงๆ สุขจริงๆ จนไม่อาจบอกกล่าวเป็นคำพูดได้ว่าสุขอย่างไร  แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็ว่าสั่งสอนย้ำเตือนว่า อย่าไปยึดติด เพียงสุขหลอกๆพวกนั้น อย่าได้ยึดถือเป็นเด็ดขาด ที่สุดจะกลายเป็นสมาธิหัวตอไป

แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ พอให้เป็นที่รู้จักกันก่อน ไปพักผ่อนเอากำลังบ้างเมื่อเหนื่อยล้า มีกำลังจึงถอยมาพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เพื่อการถอดถอน เพื่อการละกิเลสชนิดต่างๆต่อไป  

ความจริงเรื่องที่ยากจริงๆ หาใช่ความสามารถในการนั่งภาวนาให้ถึงซึ่ง " ฐานจิต" ไม่ (ไม่ต้องไปเรียนรู้ว่า นี่ขณิก นี่อุปจาร นี่อัปปนา ไม่จำเป็น) หากแต่อยู่ที่การพิจารณาแยกแยะเรื่องราวต่างๆเพื่อทำการถอดถอน ที่เรียกว่า ห่ำหั่น ต่อสู้กับกิเลสต่างๆ ทั้งชนิดหยาบ กลาง ละเอียด นี้ซิ..จึงถือว่าเป็นเรื่องราวในสนามรบ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ยากจริงๆ

การใช้ชีวิตประจำวัน จริงๆแล้ว เราก็ใช้ปัญญาในการพิจารณาแยกแยะเรื่องผิดชอบชั่วดีอยู่แล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ปัญญาวิปัสสนาส่วนหนึ่ง หากแต่ในบางเรื่องราว โดยเฉพาะในกิเลสขั้นกลาง และขั้นละเอียดแล้ว การใช้เพียงความคิดแยกแยะเหตุผลในสภาวะปกติๆดูจะเป็นเรื่องยาก และเป็นไปไม่ได้เลย

ปัจจุบันมักมีการถกเถียงกันเสมอว่า จำเป็นต้องนั่งสมาธิให้ได้ก่อนหรือไม่ หรือใช้วิปัสสนาปัญญากันเลย สำหรับความเห็นผม การที่จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ถึงซึ่งที่สุดของ "สมถะ" เป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง วงเล็บหากเราต้องการไปให้ถึงที่สุดซึ่งพระนิพพาน  เพราะจิตชั้นนี้จะบริสุทธิ์จริงๆ (รู้ได้เองว่าบริสุทธิ์อย่างไร)  ถอยมาสักนิด ออกจากความสงบก็พิจารณาได้ กิเลสในชั้นกลาง และละเอียด จึงจำเป็นต้องแยกแยะ ต่อสู้ ห่ำหั่น กันในขั้นนี้ครับ จิตชั้นปกติยังสกปรกเกินไป ต่อสู้ลำบากยากเย็นมาก ส่วนใหญ่จะโดนโลกพาหลงซะมากกว่า

หลวงปู่ดู่ท่านทำพระขึ้นมาให้กำนั่ง ความจริงก็คือกุศลโลบายธรรม เพราะปกติคนเรามักกลัวนั้นกลัวนี่เมื่อเริ่มนั่ง การมีพระอยู่กับตัว จึงถือเป็นพุทธานุสติสู่ความสงบเบื้องต้นได้รวดเร็ว แต่ที่สุดขึ้นชื่อว่าของแท้แล้ว ย่อมกลับสู่แนวทางเดียวกัน  

จบครับ...

(พิมพ์ไปพิมพ์มา ที่สุดก็ยาวไปหน่อย เปลืองเนื้อที่มากทีเดียว ต้องขอโทษต่อคุณพี่สิทธิ์ด้วยน่ะครับ)   

    

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 7  « on 31/1/2555 20:52:00 IP : 124.121.86.91 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 
ธุลีดิน Talk:

...

เมื่อตั้งใจจะตัดของพวกนั้นออกจากจิตจากใจจริงๆแล้ว ก่อนนั่งก็กำหนดไว้เลยว่า ฉันจะไม่เอาแล้วน่ะ กับสิ่งภายนอก สิ่งไร้สาระพวกนั้น ไม่เอาอย่างเด็ดขาด ฉันเสียเวลาช้าเนิ่นนานมาก็กับของพวกนั้น 

...



หลาย ๆ ส่วนล้วนเห็นด้วยกับคุณธุลีดิน ยกเว้นท่าทีต่อนิมิตและแสงสว่างที่มีประเด็นจะเล่าให้พวกเราฟังกัน แต่ดูเหมือนจะมีประเด็นคล้าย ๆ กันนี้ในหลายกระทู้ จึงขอยกยอดไปเล่าในกระทู้ใหม่ที่ชื่อ "ไม่พอดี" นะครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 8  « on 1/2/2555 1:53:00 IP : 58.8.14.248 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

ครับ..ในหัวข้อ " ไม่พอดี"

คุณพี่สิทธิ์ได้นำลงกระทู้ของหลวงปู่ดู่ท่านแล้ว

ลองเข้าไปอ่านกันดูครับ

ตามที่คุณพี่สิทธิ์ว่า..อย่างไรเสีย..คำของครูบาอาจารย์ เราก็ต้องเชื่อถือไว้ก่อน

เรายังเป็นผู้ปฏิบัติแต่ยังน้อย เพียงชั้นเริ่มต้น เห็นเพียงแง่มุมเดียว มิได้เห็นทุกแง่มุมกว้างขวาง ดังเช่นองค์หลวงปู่ท่าน

อย่างไรเสีย ก็ต้องเชื่อฟัง คำสั่งสอนครูบาอาจารย์เราไว้ก่อนครับ

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ระกา

Posts: 0 topics
Joined: 11/11/2553

ความคิดเห็นที่ 9  « on 1/2/2555 7:07:00 IP : 202.28.109.99 »   
Re: วิปัสสนูปกิเลส โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
 

สาธุ ขอบคุณมากครับสำหรับเมตตาจิต จะตามไปอ่านต่อ เพื่อหา

.....ความพอดี....ครับ   ขอบคุณมากอีกครั้งครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 14 Visits: 16,687,720 Today: 958 PageView/Month: 69,254