luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ตัวทุกข์แท้  (Read: 34934 times - Reply: 29 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ตัวทุกข์แท้
« Thread Started on 9/7/2555 8:07:00 IP : 203.148.162.151 »
 

(รูปท่านพุทธทาสภิกขุ โดย Mr. Terran)

"อุปาทานในขันธ์ ๕ เกี่ยวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไร ?

ปัญหาอยู่ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ

กล่าวโดยสรุปได้ว่าความยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เพราะขันธ์ ๕ ไม่เป็นไปตามความต้องการ

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวของพุทธศาสนา

ที่จำแนกความทุกข์ต่าง ๆ ออกเป็นหลายอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวทุกข์แท้

ความทุกข์แท้อยู่ที่ความยึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่ทุกข์ (สังขิตเตนะ ปัจจุปาทานักขันธา ทุกขา)

ควรจะเลื่อนปัญหาเกิด แก่ เจ็บ ตาย มาอยู่ที่ความยึดถือ การแก้ปัญหาเหลือข้อเดียว คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

 

ที่ยกข้อธรรมของท่านพุทธทาสนี้ขึ้นมาก็เพราะช่วงนี้ได้เห็นน้ำตาเพราะความทุกข์ของคนหลายคน บ้างทุกข์เพราะคนในบ้านป่วยเป็นโรคร้ายถึงขั้นมุ่งหวังจะฆ่าตัวตาย บ้างทุกข์เพราะความทุ่มเทในหน้าที่การงานแต่ผู้ใหญ่ไม่เห็นคุณค่า บ้างทุกข์เพราะเรือสองแคมที่ไม่ได้ดุลย์ บ้างทุกข์เพราะความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งจากเป็น และจากตาย ฯลฯ

การจะปล่อยวาง ไม่ยึดถือสิ่งใดเลย เป็นหัวใจของการจะออกจากทุกข์ แต่กระบวนการฝึกจิตที่จะไปให้ถึงจุดนั้นชนิดที่ไม่ให้กลับมาแว้งกัดเราได้อีก ไม่ง่ายเลย เพราะต้องอาศัยกระบวนการฝึกตนในทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ที่เข้มข้นมากพอ

"หมั่นทำเข้าไว้ ๆ" 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: ตัวทุกข์แท้
จำนวนข้อความทั้งหมด:  14
1
2
>
แสดงความคิดเห็น
เพียงดิน

Posts: 156 topics
Joined: 13/9/2553

ความคิดเห็นที่ 1  « on 9/7/2555 8:29:00 IP : 158.34.240.19 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 
สิทธิ์ Talk:

ที่ยกข้อธรรมของท่านพุทธทาสนี้ขึ้นมาก็เพราะช่วงนี้ได้เห็นน้ำตาเพราะความทุกข์ของคนหลายคน บ้างทุกข์เพราะคนในบ้านป่วยเป็นโรคร้ายถึงขั้นมุ่งหวังจะฆ่าตัวตาย บ้างทุกข์เพราะความทุ่มเทในหน้าที่การงานแต่ผู้ใหญ่ไม่เห็นคุณค่า บ้างทุกข์เพราะเรือสองแคมที่ไม่ได้ดุลย์ บ้างทุกข์เพราะความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งจากเป็น และจากตาย ฯลฯ

การจะปล่อยวาง ไม่ยึดถือสิ่งใดเลย เป็นหัวใจของการจะออกจากทุกข์ แต่กระบวนการฝึกจิตที่จะไปให้ถึงจุดนั้นชนิดที่ไม่ให้กลับมาแว้งกัดเราได้อีก ไม่ง่ายเลย เพราะต้องอาศัยกระบวนการฝึกตนในทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ที่เข้มข้นมากพอ

"หมั่นทำเข้าไว้ ๆ" 

  



ขอบคุณ คุณสิทธิ์ ที่ยกข้อธรรมะ มาให้ได้พิจารณากันค่ะ

 ..ของจริงต้องหมั่นทำ 

เจ้าของยังมีแต่ของปลอมอยู่เต็มตัว

ตอนนี้ปากบอกปล่อยแต่ใจยังยึดอยู่

เหตุอาจเพราะศีล สมาธิ ปัญญายังเจือจางบางเบานัก

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
น้อง

Posts: 5 topics
Joined: 17/3/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 9/7/2555 17:01:00 IP : 110.168.81.234 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

หมั่นอยู่ หมั่นอยู่ ทุกฤดูกาล

ของจริงของครู ของจำของเรา เจริญสติทุกท่านค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
รพินทร์

Posts: 3 topics
Joined: 14/12/2552

ความคิดเห็นที่ 3  « on 9/7/2555 17:25:00 IP : 110.168.207.27 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

สาธุอนุโมทนามิครับ _/\_

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 4  « on 9/7/2555 17:29:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

ป้าน้องเจอแต่แบบฝึกหัดหนัก ๆ (การเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วย ความตาย และความพลัดพราก) อย่างนี้ของจำจะไม่เป็นของจริงได้อย่างไรกันครับ

อย่างไรเสียก็ขอบารมีหลวงปู่เกื้อหนุนป้าน้องให้ผ่านแบบฝึกหัดทุก ๆ บทอย่างสง่างาม เพื่อมาเป็นแบบอย่างให้ผมและเพื่อน ๆ สมาชิกทุก ๆ คนด้วยนะครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 5  « on 6/9/2555 8:11:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

ผลงานพระธรรมเทศนาของท่านพุทธทาสภิกขุนี่มีมากมายเหลือเกิน ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา

สมัยแรก ๆ ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจเจตนาของท่าน ว่าการที่ท่านต้องพูดตรง ๆ แรง ๆ บ้างก็เพื่อกระตุกสังคมพุทธ (ในช่วงเวลานั้น) ที่จมจ่อมกับเรื่องไสยศาสตร์และพิธีรีตรองจนมองข้ามเนื้อหาสาระธรรมที่ควรน้อมนำมาเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาชีวิต

ต่อมาผู้คนเริ่มเข้าใจสิ่งที่ท่านพยายามสื่อในเรื่อง "ภาษาคน - ภาษาธรรม" มากยิ่งขึ้น กระทั่งต่อมาเวลาจะฝึกอบรมพระธรรมทูต ก็ต้องส่งไปให้ท่านพุทธทาสภิกขุฝึกอบรมที่สวนโมกข์เป็นเวลาหลาย ๆ วันอีกด้วย

มีใจความสำคัญของการอบรมพระธรรมทูตอันหนึ่งที่อาจช่วยแก้ข้อสงสัยของเพื่อนสมาชิกบางท่านได้ เกี่ยวกับคำว่า "การประกาศพรหมจรรย์ vs. การประกาศศาสนา"

ท่านพุทธทาสสอนพระธรรมทูตว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยพูดว่าจงไปประกาศศาสนา มีแต่ "จงไปประกาศพรหมจรรย์"

พรหม คือ สูงสุด หรือประเสริฐ จรรย์ คือ การประพฤติ
รวมกันแล้วคือ การประกาศแบบอย่างความประพฤติอันประเสริฐ ซึ่งก็คือการเป็นอยู่ด้วยศีล (มีระเบียบวินัยดีที่สุด) สมาธิ (มีสภาวะจิตที่พร้อมต่อการทำงานดีที่สุด) และปัญญา (มีความรู้ที่ดีที่สุดคือความรู้เพื่อการดับทุกข์)

การพูดถึงการประกาศศาสนา ก็เน้นไปที่การพิมพ์หนังสือและแจกจ่ายออกไปเยอะ ๆ ส่งไปรษณีย์ออกไปมาก ๆ อะไรทำนองนั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องของการที่ต้องพูดสอน หรือการเผยแพร่ตัวหนังสือธรรม

แต่ถ้าเป็นการประกาศพรหมจรรย์ซึ่งเป็นพุทธประสงค์แล้ว ต้องเน้นไปที่ตัวผู้สอนที่ต้องมีพรหมจรรย์ นั่นก็คือมีศีล สมาธิ และปัญญา อย่างดีเสียก่อน เป็นการพูดสอนแบบหุบปาก หรือสอนแบบเงียบเสียง เพราะเนื้อตัวของผู้ประกาศนั้นแหละคือตัวพรหมจรรย์ที่จะเผยแพร่หรือประกาศออกไป

ดังนั้น การประกาศพรหมจรรย์ ไปประกาศที่ไหนก็ไม่ต้องแบกตำราหรือคัมภีร์ไปด้วย เพราะมันอยู่กับเนื้อตัวของผู้ประกาศนั้นเอง ถ้าเน้นการประกาศอย่างนี้ แล้วอาศัยการประกาศด้วยการพูดสอนหรือตัวหนังสือเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเสริม มันจะได้ผลกว่า มันจะยั่งยืนกว่า ที่สำคัญ มันจะสำเร็จประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ประกาศ และตัวผู้รับการประกาศ

ลุงสิทธิ์ศึกษาคำสอนในการอบรมพระธรรมทูตของท่านพุทธทาสภิกขุแล้วก็เห็นจริงตามท่าน เลยสรุปใจความสำคัญมาฝากพวกเราทุกคนครับ ถ้ามีโอกาสจะนำส่วนอื่น ๆ มาสรุปให้ฟังอีก เช่น เรื่อง การทำวัตรสวดมนต์อย่างศีล สมาธิ และปัญญา  ขันติอันยิ่งของผู้ต้องการฝึกตน  ฯลฯ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 6  « on 14/9/2555 7:57:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

ใครที่ยังสงสัยถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างสมถะและวิปัสสนา รวมทั้งแนวทางการวางตัวต่อการปฏิบัติธรรมในระยะยาวควรเป็นอย่างไร เชิญศึกษาจากโอวาทของท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง "การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง" ซึ่งมีความไพเราะในอรรถะและอุปมาธรรมมากที่สุดตอนหนึ่งทีเดียวครับ

"...เราจะเรียนรู้เรื่องอะไร เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรทั้งหมด ทุกเรื่องมันก็สรุปรวมอยู่ที่ว่าเพื่อการ "ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง" จะดำรงจิตอย่างไร รายละเอียดก็มีมาก ...ทีนี้ก็จะเปรียบด้วยอุปมาให้จำง่ายและเข้าใจง่ายได้อีกสักคำหนึ่งว่าเหมือนกับ "ขี่จักรยานจิต"

ขอให้ทุก ๆ คนเข้าใจ ทำในใจให้เหมือนกับขี่รถจักรยานจิต ทำไมจึงเปรียบกับการขี่รถจักรยาน เพราะมันคล้ายกันมาก เกือบจะทุกอย่างทุกประการ นับตั้งแต่ว่าการขี่รถจักรยานนั้นมันก็มีที่หมายปลายทางว่าจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง คือความหมดทุกข์ ดับทุกข์สิ้นเชิง ที่เรียกว่าพระนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทาง

รถจักรยานจะขี่ได้ ขี่ไปได้นั้น มันมีความหมายสองความหมายซ้อนกันอยู่ คือ (๑) ควบคุมรถจักรยานได้ ไม่ให้ล้ม นี่ตอนหนึ่ง แล้วก็ (๒) ออกแรงทำให้มันวิ่งไป แล่นไป เคลื่อนที่ไป นี่อีกตอนหนึ่ง

ถ้ามันล้มก็ไปไม่ได้ ถ้าไปได้ก็คือไม่ล้ม และที่ไม่ล้มและไปได้ มันเนื่องกันอย่างจะแยกกันไม่ออก ...ไอ้การที่มันไม่ล้มและไอ้การที่มันจะพุ่งไปข้างนั้นมันแฝดกันอยู่

เรื่องขี่จักรยานจิตก็เหมือนกัน ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่เหมือนลักษณะที่เป็นสมาธิ และให้มันพุ่งไปข้างหน้า คือรู้แจ่มแจ้งในอะไรได้ไกลออกไป จึงเป็นลักษณะของวิปัสสนาหรือปัญญา

เรื่องจิตแบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนสมาธิหรือสมถะ คุมจิตให้อยู่ในอำนาจและตั้งมั่นอยู่ได้ พร้อมที่จะทำงานของมัน แล้วก็เป็นขั้นต่อไปคือ วิปัสสนาหรือปัญญา ที่มันจะแล่นไปด้วยกระแสความรู้ รู้ ๆ ๆ ๆ จนถึงที่สุด มันก็หลุดพ้นและปล่อยวาง นี่มันเหมือนกันอย่างนี้

...ลำพังสองล้อมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันล้มง่าย มันล้มเก่ง แล้วก็ต้องบังคับ บังคับยาก จิตนี่ก็เหมือนกัน มันล้มง่าย คือมันฟุ้งซ่าน ออกนอกลู่นอกทางง่าย คือมันบังคับยาก จึงเปรียบกับรถจักรยานมันล้มง่ายอย่างไร จิตก็ล้มง่ายอย่างนั้น เราต้องฝึกฝนบังคับมันจนกว่าจะบังคับมันได้และขี่มันได้

และที่เหมือนกันอีกข้อหนึ่งเป็นข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือข้อที่ว่า มันสอนกันไม่ได้ ให้คนอื่นสอนไม่ได้ ต้องสอนด้วยตนเอง ด้วยตัวมันเอง นี่คนอื่นไม่ค่อยเชื่อ หาว่าคนพูดนี่โง่ หลับตาพูด

คือเราบอกเขาว่า การขี่รถจักรยานนั้นมันสอนกันไม่ได้ ไอ้คนโง่นั้นมันก็เถียงว่า อ้าว ก็มีคนช่วยจับ ช่วยยึด ช่วยแนะ ช่วยอธิบายตอนแรกก่อนมิใช่หรือ เราก็บอกว่านั่นมันก็จริง แต่มันไม่สำเร็จประโยชน์ การสอนนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ เพียงแต่บอกให้รู้ว่าทำอย่างไร ก็สอนให้เสร็จ อธิบายให้เสร็จ ก็ให้ขึ้นขี่ มันก็ล้มเท่านั้น ...นี่จะสอนกันอย่างไรก็สอนกันไม่ได้ จะให้มีใครสอนให้เราจับมือของรถแล้วทำให้เกิดบาลานซ์ถูกต้องไม่ล้ม นี่ทำไม่ได้

ขอให้เข้าใจตอนนี้ให้มาก ๆ อย่าไปโง่เหมือนคนบางคนหรือคนแทบทั้งหมด มันหวังจะให้คนอื่นสอนเรื่อยไป จะฟังจะเรียนไปเสียตะพึด ไม่พยายามที่จะสอนตัวเองให้รู้ตัวเอง

ถ้าถามว่าการจะขี่รถจักรยานเป็น ใครจะสอนให้ เราก็ต้องบอกว่ารถจักรยานนั่นแหละสอนให้ การล้มของรถจักยานนั่นแหละเป็นสิ่งที่สอนให้ ถ้าล้มไปทีหนึ่ง มันก็สอนให้ทีหนึ่ง ถ้าล้มอีกทีหนึ่ง ก็สอนอีกทีหนึ่ง จนรู้จักทำความสมดุล ไม่ล้ม ทีนี้ก็ไปได้งอกแงกๆ เหมือนคนเมา

ทีนี้ใครจะสอนได้อีก การที่จะขี่เรียบไปมันไม่มีใครสอนได้นอกจากรถจักรยานนั่นเอง การที่มันไปงอกแงก ๆ มันสอนให้ทุกทีจนกระทั่งเรารู้จักทำให้มันสมดุล มันก็ไม่งอกแงก มันก็ไปเรียบ รู้จักใช้กำลังผลักดัน ถีบให้มันพอดีกันกับการที่จะบังคับมือสองข้างให้มันสัมพันธ์กันดี เหมาะสมกันดี แล้วมันก็ขี่ไปได้เรียบตามต้องการ

...เรื่องฝึกจิตก็เหมือนกัน อย่าไปคิดว่าใครมันจะสอนกันได้ มานั่ง จับ จูง อะไรกันอยู่อย่างนี้ ก็ได้แต่บอกเรื่องว่าจะต้องทำอย่างไร เหมือนกับแนะนำให้จับรถจักรยานอย่างไร ถีบอย่างไร อะไรอย่างนั้น แนะได้บ้าง ไม่ใช่แนะไม่ได้เสียเลย แต่มันไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลยเพียงการแนะนั้น

(ขอพักโอวาทตอนที่ ๑ ไว้เพียงนี้ก่อนนะครับ)

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
น้อง

Posts: 5 topics
Joined: 17/3/2554

ความคิดเห็นที่ 7  « on 14/9/2555 13:13:00 IP : 124.120.133.107 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 
กดไล้ค์สองมือ ยากเกินกว่าจะเป็นปฐมนิเทศน์ค่ะแต่ได้ประโยชน์สูงสุดถ้าใครรู้ก่อนได้ทำก่อน รู้ใกล้สอบไล่เกรงว่าจะหัดว่ายน้ำก่อนเรือจะล่ม แล้วยังไม่ทราบว่าสอบไล่จะมาถึงแต่ ละคนเมื่อไร ขอน้อมรับด้วยระลึกรู้คุณยิ่ง จะเตรียมให้ครบด้วยบทความในกระทู้หลวงปู่ จะได้มีสติเมื่อบททดสอบต่างๆถาโถมเข้ามา ถ้าขี่จักรยานได้แล้วเราจะไม่ลืมใช่ไหมคะ พึ่งเห็นว่าขี่จักรยานกับว่ายน้ำต่างกันเรา ไม่ต้องระวังน้ำหก น้ำเหือด ข้อเหมือนกันคือต้องทำเอง ครููอาจจะฟังประโยคนี้จนเบื่อแต่ศิษย์ดื้อคนนี้ยังคงอยากเรียนว่า กระทู้นี้วิ่เข้าไปในใจ ไม่ได้วิ่งไปที่สมอง
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 8  « on 19/9/2555 8:24:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

มาศึกษาเรื่องการขี่จักรยานจิต ตอนที่ ๒ ของท่านพุทธทาสภิกขุ กันต่อนะครับ

"เขามีหลักว่าให้จิตกำหนดลงไปที่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นเรื่องพุทโธ จะเป็นเรื่องหายใจออก-เข้า หรืออะไรก็ตาม มันมีอารมณ์ หรือจะเรียกว่านิมิตก็ได้สำหรับจิตกำหนด

เมื่อมีการกำหนดอารมณ์ (สิ่งระลึกรู้ของจิต) ก็เหมือนกับขึ้นขี่จักรยานแล้ว การขึ้นขี่รถจักรยานแล้วมันล้มก็คือจิตมันไม่กำหนด (ไม่ระลึกรู้) จิตมันเถลไถลไปเสียที่อื่น เขาเรียกว่าบังคับไม่ได้ ทีนี้ก็ต้องต่อสู้กัน มันล้มอย่างไร มันไม่ได้ด้วยเหตุใด ต้องเอาอันนั้นมาเป็นครูสอน ทำการสังเกตให้ละเอียดลออว่าต้องทำอย่างนี้ แล้วลองทำอย่างนี้ ๆ

ทุก ๆ ทีที่มันล้มหรือมันละจากอารมณ์ (หลวงปู่ดู่ใช้คำว่ามันแส่สายหรือจิตแตก คือเสียการทรงตัว คือเสียความแน่วแน่ในอารมณ์กรรมฐาน) มันไปเสียที่อื่นจนกระทั่งค่อย ๆ พบสิ่งลึกลับทีละนิดทีละหน่อยจนสามารถบังคับจิตให้กำหนดอยู่ที่อารมณ์ได้นานเป็นที่พอใจ นี่เรียกว่าสำเร็จในขั้นที่เป็นสมถะหรือสมาธิแล้ว เพียงแต่เรารู้จักทำมันไม่ล้มแล้ว ทีนี้ยังไปไม่ได้ ยังไม่พุ่งไปข้างหน้า ยังเปะๆ ปะๆ จึงต้องเลื่อนขั้นไปสู่ระดับที่เรียกว่าปัญญา พิจารณาเพื่อให้เกิดความรู้ รู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนตัดกิเลส จนบรรลุมรรคผลนิพพาน

เรื่องของจิตจึงมีอยู่ ๒ ตอน คือตอนเป็นสมาธิ ซึ่งหมายถึงบังคับจิตได้ ทีนี้ตอนที่เป็นปัญญาใช้จิตที่เป็นสมาธิแล้วนั้นพิจารณาให้แจ้ง เรียกว่า ดู ๆ ๆ ๆ ๆ จนเห็นแจ้ง ไม่ใช่มามัวคิดนึกตามวิธีเหตุผลตรรกะ ปรัชญา เปล่า ๆ ทั้งนั้น 

เมื่อจิตถึงที่สุดแล้วก็ดู เพ่งดูลงไปที่สิ่งที่เราจะต้องดู เช่นว่าทำลมหายใจจนจิตเป็นสมาธิแล้วก็เพ่งดูลมหายใจที่มันไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา หรือเพ่งดูเวทนาที่เป็นสุขที่เกิดจากสมาธินั้นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขขัง อนัตตา มากพอ แล้วจิตมันก็ถอนจากความยึดมั่นที่เคยยึดมั่นในสิ่งใดมาแต่ก่อน...

ผู้ใดสนใจในพุทธศาสนาถึงขั้นที่ว่าถึงหัวใจพุทธศาสนาก็จะต้องศึกษาและปฏิบัติกันจนเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องการดำรงจิตไว้ถูกต้อง

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 9  « on 19/9/2555 12:55:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 

ท่านน่าจะหมายถึงผลการปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นสิ่งอัศจรรย์เพราะไม่เคยปรากฏแก่จิตมาก่อนแต่สมัยยังไม่ได้ปฏิบัติ

ลองพิจารณาถึงปีติที่ปรากฏแก่ผู้ที่เริ่มเข้าสู่ความสงบสิครับ เดี๋ยวตัวเบา เดี๋ยวตัวลอย เดี๋ยวเหมือนไม่หายใจ เดี๋ยวตัวใหญ่เต็มห้อง เดี๋ยวตัวลีบเล็ก เดี๋ยวตัวยืดยาวทะลุหลังคา ฯลฯ ที่สำคัญความที่จิตรวมสงบและมีกำลัง

กับคนที่ไม่เคยประสบมาก่อน จะไม่ถือเป็นสิ่งลึกลับหรืออัศจรรย์ได้อย่างไรกันครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 10  « on 27/9/2555 7:07:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ตัวทุกข์แท้
 


ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ต้องประสบพบเจออยู่บ่อยครั้งก็คือการเผชิญกับความเห็นที่ขัดแย้งกัน พอเกิดสถานการณ์เช่นนี้ทีไร ก็มักทำให้คนเกิดอคติถือข้างว่าตนถูกเสมอ จะผิดไม่ได้ จนมองข้ามประโยชน์ที่แท้จริง

เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุท่านให้แง่คิดไว้ว่า

"เมื่อความเห็นเกิดขัดแย้งระหว่างเรากับคนอื่น หรือความเห็นของเราเอง ล้วนแยกเป็น ๒ ฝ่ายก็ดี

ทางที่ดี เราต้องเลือกเอาทางที่เป็นหรือต้องเป็น "ประโยชน์แท้จริง" ...ไม่จำเป็นต้องให้มีใครผิด ใครถูก ใครแพ้ ใครชนะ

ขืนพูดในทำนองใครผิด ใครถูก จะไม่มีความเป็นพุทธบริษัทเหลืออยู่สักกะผีกเดียว เพราะอำนาจความมีตัวกู-ของกู"

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
2
>
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 11 Visits: 16,687,080 Today: 310 PageView/Month: 68,606