luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)  (Read: 19348 times - Reply: 17 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
« Thread Started on 8/8/2554 22:32:00 IP : 124.121.125.180 »
 

บันทึกปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ไว้เพื่อชนรุ่นหลังได้รับทราบ

๑. หลวงปู่เน้นสอนแบบตั้งรับ

หลวงปู่ไม่เคยเดินสายไปเทศน์ที่ไหน ๆ มีแต่ตั้งรับ และตั้งรับชนิดว่ามาเมื่อไหร่เป็นได้เจอท่าน ใครมาจริงก็จะเจอของจริง

 

๒. หลวงปู่ไม่นิยมก่อสร้าง

ไม่ปรากฏว่าหลวงปู่สร้างถาวรวัตถุนั่นนี่ มีแต่บูรณะอุโบสถบ้าง กุฏิเสนาสนะในวัดบ้าง ซ่อมสะพานคนข้ามบ้าง บริจาคบำรุงการศึกษาให้เด็กนักเรียนบ้าง ให้เป็นทุนรักษาพระอาพาธบ้าง ฯลฯ แม้แต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ โต ๆ ก็ไม่เคยเห็นท่านสร้าง เพราะท่านเป็นคนบอกบุญใครไม่เป็น และไม่นิยมสร้างวัตถุ หากแต่เน้นสร้างคนให้เป็นพระ

 

๓. หลวงปู่ไม่นิยมองค์กรจัดตั้ง

ท่านสอนของท่านแบบชาวบ้าน ๆ จะมีอะไรขลุกขลักบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องให้ถึงขนาดจัดแบ่งแผนก หรือเป็นคณะ เป็นสำนัก หรือเป็นองค์กร เพราะท่านไม่ยัดเยียดธรรมะให้ใคร ๆ

ครั้งหนึ่ง ได้ยินท่านอุทานภายหลังอ่านพาดหัวหนังสือพิมพ์กรณีวัดไล่ที่ชาวบ้าน ว่า "ข้าว่าแล้วเชียว" คือท่านไม่เห็นด้วยกับการมุ่งขยายสำนักให้ใหญ่โตจนเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันขึ้น (คราวนั้น สำนักปฏิบัติใหญ่ได้ซื้อที่จากนายทุน แล้วส่งคนไปไล่ชาวบ้านที่เช่าที่ทำกินออกไป)

ดูเอาเถิด ขนาดข้าวเปล่าทัพพีเดียวที่ยาจกใส่บาตรพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ยังจำบุญคุณมิรู้ลืม นี่ชาวบ้านบางส่วนก็คือคนใส่บาตรพระสำนักนี้ ก็ยังบีบให้เขาจำต้องทิ้งที่ทำกินถิ่นอาศัยไป บ้างมีที่เป็นของ ๆ ตนก็ยังบีบให้เป็นที่ตาบอด จนต้องขายทิ้งทั้งน้ำตา

 

๔. หลวงปู่ชอบสอนด้วยการทำให้ดู

ไม่ว่าเรื่องขันติ เรื่องความสันโดษ เรื่องการรักษาอารมณ์ เรื่องความเมตตา เรื่องอุเบกขา หลวงปู่ท่านทำให้ดู ใครมีปัญญาก็จะได้เห็นแบบอย่างที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งเรื่องมงคลตื่นข่าวหรือเรื่องหมอดู ท่านก็ไม่ข้องแวะ

 

๕. หลวงปู่ใช้ฤทธิ์แบบไม่แสดง

หลวงปู่ท่านใช้ของท่านแบบเนียน ๆ มุ่งเอาผลคือความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของลูกศิษย์เป็นที่ตั้ง มิใช่แสดงให้ลูกศิษย์มาอัศจรรย์กับเครื่องมือคือฤทธิ์ของท่าน

 

๖. ท่านไม่ได้สอนให้พอใจหรือหยุดอยู่เพียงแค่วัตถุมงคล

กับผู้ที่ยังข้องอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นมงคล หลวงปู่ท่านก็ยอมให้มาติดกับวัตถุมงคลไปก่อน จากนั้นท่านก็สอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้เขาหาพระเก่าพระแท้ในใจตนเองให้เจอ เพื่อเป็นหลักประกันว่า "ตนที่ฝึกดีแล้ว จะเป็นที่พึ่งแห่งตน" ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ความดีที่ยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่อีก มิใช่มีเพียงเท่านี้"

 

๗. หลวงปู่สอนให้สวดตัวเองยิ่งกว่ามนตร์ใด ๆ

สวดตัวเองก็คือด่าตัวเอง สอนตัวเอง ดังโอวาทของท่านที่ว่า "ตนไม่เตือนตนเอง จะให้ใครมาเตือน" สวดตัวเองก็ต้องอาศัยหลักธรรมใหญ่ที่ท่านเน้น นั่นก็คือ "หมั่นดูจิต รักษาจิต" มนตร์วิเศษภายนอกก็คือบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ใน ๗ ตำนาน และ ๑๒ ตำนาน ที่ท่านใช้เป็นหลัก มิใช่บทจักรพรรดิดังที่เผยแพร่กันอยู่ นี่ถ้าพระพุทธเจ้ายังอาลัยในสมบัติจักรพรรดิ พระองค์ก็คงยังต้องทุกข์จมอยู่ในวัฏฏะอีกนานแสนนาน และพวกเราก็คงไม่มีโอกาสพบแสงสว่างแห่งธรรมอีกนานแสนนานเช่นกัน พลังโลกียะ ฤาจะเปรียบกับพลังแห่งธรรมแท้ ...พลังที่จะพาเราออกจากวัฏฏะ มิใช่ข้องหรือจมอยู่กับวัฏฏะ

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
จำนวนข้อความทั้งหมด:  4
1
แสดงความคิดเห็น
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 9/8/2554 7:56:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
 

คุณ jaded ลอง search ใน internet เลือกเอาแบบฉบับแปล ก็จะทราบความหมายมากขึ้น

๗ ตำนาน ก็คือ บทสวด ๗ บท (หรือเรียกว่า ๗ ปริตร)

๑๒ ตำนาน ก็เพิ่มจาก ๗ ตำนานอีก ๕ ปริตร

คำว่าปริตรนี้ให้ความหมายทั้งเป็นการสวดเพื่อสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพร้อม ๆ กับการขอคุณบารมีพระรัตนตรัยมาปกป้องคุ้มครองผู้สวดด้วย

ผมลองยกตัวอย่างคำแปลบทรัตนสูตร ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๒ ตำนาน นะครับ

- ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันใดอันหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น หรือรัตนะอันใด อันประณีตในสวรรค์ รัตนะอันนั้นเสมอด้วยพระตถาคตเจ้าไม่มีเลย แม้อันนี้ เป็นรัตนะ อันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

  ระศากยมุนีเจ้า มีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมฤตธรรมอันประณีต สิ่งไรๆ เสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

 

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิอันใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวซึ่งสมาธิอันใด ว่าให้ผลโดยลำดับ สมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้นย่อมไม่มี แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

 

บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระสุคต ควรแก่ทักษิณาทาน ทานทั้งหลาย อันบุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

การสวดพระปริตรนั้นก็คล้าย ๆ บทสวดมนต์พิเศษเพิ่มเติมที่หลวงปู่สวดต่อจากบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ซึ่งใน ๑๒ ตำนานยังมีบทที่เกี่ยวกับการสอนธรรมอยู่ในนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทมงคลสูตร และโพชฌงค์เป็นต้น ลองศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
supa

Posts: 2 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 10/8/2554 17:25:00 IP : 180.183.144.49 »   
Re: ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
 
สิทธิ์ Talk:


คุณ supa ครับ

ได้ยินว่าทางเหนือก็มีครูบาอุ๊กแก๊ส (ไม่รู้ว่าเรียกถูกหรือเปล่า) ใช่ไหมครับ หมายความว่าอย่างไร เล่าให้เพื่อน ๆ ฟังบ้างสิครับ



 

แปลตามตัวคือ พระบ่มแก็ส บ่มให้สุกเร็วๆ เหมือนบ่มมะม่วง บ่มกล้วยแบบนั้น เข้าใจว่าอาจบ่มด้วยการแสดงออก (โปรโมท) แบบต่างๆ สร้างภาพลักษณ์ของพระที่ปฏิบัติดีงาม สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองเพื่อให้คนจำได้ ทั้งที่อายุพรรษายังน้อยและ/หรือไม่ได้เคร่งต่อวินัยอย่างใด

ถ้าผิดพลาดขออภัยค่ะ เรียบเรียงมาจากแม่อุ้ย พ่ออุ้ยบอกกล่าว

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 3  « on 10/8/2554 20:24:00 IP : 124.122.231.62 »   
Re: ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
 

เนื่องจากสมัยเด็ก ๆ ครอบครัวผมทำสวนอยู่ในย่านสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ จึงทันได้เห็นที่บ้านเอาผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะม่วงมาบ่มแก๊ส

การบ่มแก๊สนั้นเป็นการเร่งให้ผลไม้สุกอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือ

๑. ผลไม้สุกเร็ว แต่รสชาติค่อนข้างจืด ไม่ค่อยหวาน

๒. เสียเร็ว ไม่ทนเหมือนผลไม้สุกตามธรรมชาติ

๓. หากนำผลไม้ที่อ่อนเกินไปเข้าไปบ่ม มันจะเน่า

คำคนเหนือที่ว่า "ครูบาอุ๊กแก๊ส" นี้ จึงคมคายยิ่งนักครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 4  « on 11/8/2554 11:21:00 IP : 110.168.60.123 »   
Re: ปฏิปทาการเผยแพร่ธรรมของหลวงปู่ (ตอนที่ ๑)
 

1.การเพ่งโทษตนเอง อันเกิดจากการพลาดท่ากิเลส ในการปฏิบัติถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ  แต่หากการเพ่งโทษตนเองนั้น ทำให้เกิดความเศร้าหมองแก่จิตใจตนเอง  จนมีผลต่อการทำสมาธิ  ขอเรียนถามว่าผมควรจะวางใจอย่างไรดีครับ

ฟังดูเหมือนจะมีคำตอบให้กับตัวเองแล้วว่าหากเพ่งโทษตนเองจนใจเศร้าหมองแสดงว่ามันไม่ถูกทาง

ถามว่าแล้วควรวางใจอย่างไร เบื้องต้นก็ควรวางใจเป็นกลาง ๆ (ไม่เศร้าหมอง) แล้วมองย้อนกลับเข้าไปใหม่เพื่อให้เห็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยว่า ก็เพราะกิเลสมาครอบงำ ลากจูงเรา เราแพ้มัน แล้วผลก็คือทำผิดทางมโน หรือทางวาจา หรือทางการกระทำ จนในที่สุดก็เป็นทุกข์ทั้งกับเราและคนรอบข้าง

แต่ในบางคราวเราชนะมัน ผลที่เป็นทุกข์ก็ไม่เกิด

เราจะเอากระบวนการเกิดทุกข์ หรือจะเอากระบวนการดับทุกข์ล่ะ ชีวิตที่ยังมีลมหายใจอยู่ ในเมื่อเราเห็นความบกพร่องของตนเอง (ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเป็นต้นทางของการฝึกตน) แทนที่จะทุกข์กับความรู้สึกว่าเราไม่เอาไหน แพ้กิเลสทุกที จะไม่ดีกว่าหรือที่จะพลิกจิตคิดว่า เราจะฝึกตัวเรา ทำที่แพ้ให้เป็นชนะขึ้นมาบ้าง เราจะวางใจให้มีความอาจหาญร่าเริงในธรรม ผิดเป็นครู เราจะฝึกตัวให้ความบกพร่องลดลง ๆ  

ช้างศึกเมื่อตกหล่ม พอได้ยินเสียงกลองรบ มันก็รวบรวมพลังตะเกียกตะกายจนขึ้นจากหล่มได้ เรามีเสียงธรรมพระพุทธเจ้า และเสียงโอวาทหลวงปู่ดู่อยู่ในใจ ทำไมจะยกตนขึ้นเหนืออารมณ์กิเลสบ้างไม่ได้

ในระหว่างแห่งการละชั่วและทำดี เราก็ต้องรักษาจิตให้ผ่องแผ้วไว้ด้วย มันจะเศร้าหมองในบางคราวเพราะความขาดสติ เราก็ต้องพยายามรู้ตัวและรักษาจิตกลับมาเป็นปรกติให้เร็วที่สุด บอกตัวเองว่าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มิใช่เพื่อจมจ่อมอยู่กับทุกข์

โดยสรุปก็คือเรื่องของการที่ต้องใช้อุบายปัญญามารักษาใจเจ้าของนั่นเอง

2.กิเลส  โกรธ  โลภ หลง นั้น ตามหลักการปฏิบัติ เราควรละวางไปพร้อมๆ กัน หรือไม่ ครับ   หรือเราควรมุ่งเน้นฝึกละวางตัวกิเลสที่ติดแน่นกับตัวเรามานานก่อน 

เป็นแผลหนองตรงไหนก็ต้องบ่งตรงนั้นก่อน ไฟโทสะเกิดขึ้นขณะนี้ ก็ต้องมุ่งดับไฟโทสะก่อน 

หากทบทวนดู จะพบว่าในแต่ละวันมันมาครบแน่ทั้งโกรธ โลภ หลง ...เดี๋ยวขุ่นเคืองใจ เดี๋ยวอยากได้นั่นได้นี่ หรืออยากให้คนนั้นไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ เดี๋ยวหลงบ้างานบ้าการจนลืมภาวนาหรือทำความรู้กายรู้ใจ แม้เราไม่เรียกร้อง มันก็มาครบ เป็นไฟสามกองให้เราคอยดับ ห่วงแต่น้ำดับเพลิงจะไม่พอ หรือน้ำดับเพลิงเสื่อมคุณภาพจนกลายเป็นเชื้อไฟเสียเอง  

 

โดยรวมนั้น ควรระวังอย่าปฏิบัติแบบเคร่งเครียดจนเกินไป เอาแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความสม่ำเสมอ

ของอย่างนี้ต้องใช้เวลา เพราะมันอยู่กับเราจนเป็นยางเหนียว แค่นึกจะหั่น บางทียังไม่อยากนึกเลย

ในระหว่างทาง ก็ควรทำใจให้เป็นสุข มีความพอใจกับการปฏิบัติ บอกตัวเองว่าเรากำลังทำสิ่งที่มีคุณค่า ทำชีวิตของเราให้ไม่เป็นโมฆะ จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ฝึกฝนขัดเกลากันเรื่อยไปจนกว่าชีวิตจะยุติ

อนุโมทนาสาธุ ได้ดีแล้วก็อย่าลืมมาดึงพี่ ๆ ไปด้วยนะครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 6 Visits: 16,674,430 Today: 1,155 PageView/Month: 55,797