luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   อุทาหรณ์จากผู้ปฏิบัติธรรมด้วยตัณหา  (Read: 16844 times - Reply: 18 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

อุทาหรณ์จากผู้ปฏิบัติธรรมด้วยตัณหา
« Thread Started on 18/8/2554 7:35:00 IP : 203.148.162.151 »
 

มีตัวอย่างเรื่องจริงที่เป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่งให้นักปฏิบัติพึงสังวรระวังไม่ปฏิบัติธรรมเพื่อความได้ ความมี ความเป็น หรืออยากเก่งเหนือผู้อื่น ฯลฯ

ย้อนเวลาไปเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน มีหนุ่มคนหนึ่ง เป็นคนทำงานเก่ง มีบุคลิกภาพที่มั่นใจตนเอง เสียงดังฟังชัด มีเพื่อนมาก ได้หันเหชีวิตจากที่ชอบเที่ยวกลางคืน ฯลฯ มาสนใจทางวัดวาและทำสมาธิภาวนา

ทำสมาธิครั้งแรก ๆ ก็เกิดปีติเป็นที่อัศจรรย์ จึงทำมากเข้า ๆ ประกอบกับการได้ยินได้ฟังได้อ่านเรื่องราวประสบการณ์ครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เขาก็เลยปฏิบัติเพื่อให้ได้ให้เป็นอย่างครูอาจารย์ได้ ครูอาจารย์เป็น

เขาปฏิบัติกระทั่งเชื่อว่าตนเองได้บรรลุฌาน ๔ เพราะเขาสามารถเข้าสมาธิแล้ว แล้วให้เพื่อน ๆ ตรวจดูลมหายใจ ซึ่งก็ปรากฏว่าแทบไม่มีหรือไม่มี เป็นเวลาหลายสิบนาที

จากนั้น เขาก็เริ่มรู้เห็นวิญญาณตามข้างถนน บางครั้งต้องหยุดรถเพื่อตั้งใจแผ่เมตตาให้จริงจัง

เขาเที่ยวเสาะแสวงหาลูกศิษย์หลวงปูดู่ว่าคนไหนเก่ง เพื่อเรียนรู้และทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง

ด้วยความที่จิตของเขาฟูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกำลังศรัทธาและกำลังแห่งสมาธิ ดังนั้น เขาจึงปรารภที่จะบวชตลอดชีวิต แต่เพื่อน ๆ ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ก็พากันทัดทานว่ารอดูสักระยะหนึ่งก่อนเถิด ซึ่งก็จริง เพราะผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ อารมณ์อยากบวชของเขาก็คลายลง

ความชำนาญในการทำสมาธิของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่แทนที่จะเป็นคุณกับเขา กลับเป็นโทษกับเขา เพราะแค่หยิบเอกสารขึ้นมาอ่านอย่างตั้งใจหน่อย จิตของเขาก็ดำดิ่งไปเลย ไม่สามารถทำการทำงานได้อย่างปรกติ

เพื่อนคนหนึ่งได้พาเขาไปหาหลวงปู่ดู่เพื่อให้ท่านแก้ไขให้ ซึ่งพอหลวงปู่เห็นเขา ท่านก็รู้ว่าเขามีอาการจิตตกภวังค์โดยที่ตัวเองก็ไม่มีกำลังถอนจิตขึ้นมา ท่านจึงไล่ให้เขาไปนั่งสมาธิที่หอสวดมนต์ จากนั้นหลวงปู่ท่านก็รับแขกตามปรกติ สักพักหนึ่งหลวงปู่ก็จ้องไปที่เขา แล้วตะโกนว่า "เอ้า! ถอนจิตขึ้นมา ถอนจิตขึ้นมา" เขาก็ขยับเนื้อขยับตัว เหมือนมีความรู้เนื้อรู้ตัวหลังจากที่ตกภวังค์ แล้วก็นั่งปฏิบัติต่อ

สักพักหลวงปู่ก็ตะโกนออกมาอีกว่า "เอ้า! ถอนจิตขึ้นมา ถอนจิตขึ้นมา"

เพื่อนที่ไปด้วยจึงรู้ว่า หลวงปู่ต้องการให้เขาฝึกตัวเองให้มีกำลังแห่งสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะถอนจิตตัวเองขึ้นจากภวังค์ได้ด้วยตนเอง

เขาไปหาหลวงปู่ได้เพียงครั้งหรือสองครั้ง จากนั้น หลวงปู่ท่านก็ได้ละสังขาร ทีนี้โรคเก่า (โรคปฏิบัติด้วยตัณหา) กำเริบขึ้นอีก เขาสำคัญตนเป็นโสดา สกิทา อนาคา กระทั่งอรหันต์ในที่สุด จนไม่ฟังคำเตือนของใครทั้งสิ้น (เพราะสำคัญว่าตนมีภูมิจิตภูมิธรรมสูงกว่าใคร ๆ)

เขาได้ปรารภที่จะไปบวช โดยไม่บอกเพื่อน ๆ ที่เป็นศิษย์หลวงปู่ดู่ เพราะเกรงจะถูกทัดทาน สุดท้ายเขาก็ได้การสนับสนุนจากรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งไม่รู้สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น จึงพลอยตื่นเต้นและโมทนากับความตั้งใจในการบวชตลอดชีวิตของเขา โดยพาเขาไปบวชที่วัดสายท่านพระอาจารย์มั่น

พักไว้แค่นี้ก่อน เอาไว้ค่อยมาเขียนต่อวันหลัง ตอนนี้ได้เวลาทำงานแล้ว    

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: อุทาหรณ์จากผู้ปฏิบัติธรรมด้วยตัณหา
จำนวนข้อความทั้งหมด:  1
1
แสดงความคิดเห็น
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 19/8/2554 7:53:00 IP : 203.148.162.151 »   
Re: อุทาหรณ์จากผู้ปฏิบัติธรรมด้วยตัณหา
 

วันนี้ขอเล่าต่อจากเมื่อวานนี้นะครับ

หลังจากที่หนุ่มคนนี้ได้บวชอยู่กับพระเถระที่มีชื่อเสียงในสายท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ก็ปฏิบัติข้อวัตรมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม และทำวัตรเช้า-เย็น ตามปรกติ แต่เพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็เริ่มมีอาการผิดปรกติให้เห็นในความสำคัญมั่นหมายว่าตนมีธรรมเสมอด้วยครูบาอาจารย์เจ้าอาวาสแล้ว ดังนั้น เวลาที่เจ้าอาวาสแสดงธรรม ตนก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลานั่งฟัง (ในคืนวันพระ)

เมื่อลุกออกจากศาลาแล้วก็ตรงกลับไปที่กุฏิของท่าน จากนั้นก็นั่งสมาธิ นั่งไป ๆ ก็มีนิมิตเสียงว่าต่อไปต้องเพิ่มขันติบารมี โดยการเอามีดมากรีดที่แขนและขา ท่านซึ่งโดยนิสัยค่อนข้างมุทะลุอยู่แล้ว ก็หลงเชื่อนิมิตเรื่อยมา ๆ โดยไม่ไตร่ตรอง ลืมตาออกจากสมาธิ ท่านก็จุดเทียน แล้วหามีด ท่านอาศัยเปลวแสงเทียนมารนให้มีดนั้นร้อน ร้อนได้ที่แล้วก็ทำการกรีดไปที่แขนและขาตนเอง จนเลือดไหลออกมามาก

สุดท้ายท่านก็นอนหมดสติอยู่ในกุฏิกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนพระภิกษุที่ออกเดินบิณฑบาตกลับมาไม่เห็นท่าน จึงได้ไปตามท่านที่กุฏิ และได้พบท่านนอนจมกองเลือดอยู่ จึงนำส่งโรงพยาบาล

พอออกจากโรงพยาบาล โยมที่บ้านท่านก็พาท่านไปสึกกลับไปอยู่ในความดูแลของทางบ้าน โดยที่ทั้งหมอและครูอาจารย์ที่รู้อาการจะห้ามไม่ให้ท่านนั่งสมาธิอีก (เพราะกลัวนั่งแล้วหลุดโลก) แต่ท่านก็ยังคงแอบนั่งสมาธิ  สังเกตได้จากการที่ท่านพูดเล่าว่า คืนนั้นคืนนี้ท่านนั่งสมาธิพบครูบาอาจารย์มีหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ ได้นั่งสนทนากันอย่างนั้นอย่างนี้  ผู้ที่ฟังแล้ว ก็นึกเป็นห่วง บอกว่าหมอห้ามไม่ให้นั่งสมาธิมิใช่หรือ ท่านก็ยอมรับว่าแอบนั่งตอนคนอื่นหลับแล้ว

ที่บ้านท่านได้พาท่านไปลองทำงานอีกครั้ง แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะจิตคอยตกภวังค์เหมือนอย่างเคย คอยฟุ้งไปในเรื่องลี้ลับที่มองไม่เห็น

...บัดนี้ไม่มีหลวงปู่ดู่จะคอยฝึกให้ท่านดึงจิตกลับมาอยู่กับโลกปัจจุบัน ประกอบกับไม่มีเพื่อนคนใดชี้แนะท่านได้ เพราะความที่ท่านคิดว่ามีภูมิจิตภูมิธรรมสูงกว่าทุก ๆ คน ผลก็ลงเอยอย่างที่ครูบาอาจารยท่านหนึ่งกล่าวว่า "คงต้องปล่อยให้ตายเปล่าไปชาติหนึ่ง"

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่น่าสะเทือนใจ ...บุคคลผู้มีศรัทธาในพระศาสนา มุ่งมั่นปฏิบัติจริงจัง แต่มีความเห็นและตั้งเป้าหมายไว้ผิด มุ่งจะเอาเก่ง มุ่งแข่งขันในการปฏิบัติ ขาดความแยบคายในการดูจิตรักษาจิต ผลจึงเป็นอย่างที่ว่า ทำดีไม่ถูกดี

การปฏิบัติ ถ้าจะให้ปลอดภัย ควรตั้งเป้าในทางละ คือ ละโกรธ โลภ หลง มิใช่ตั้งเป้าในทางได้ เช่น การได้บรรลุญาณวิเศษ หรือสามารถติดต่อกับภพภูมิต่าง ๆ ได้ หรือแม้แต่อยากได้เป็นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ โพธิสัตว์ ฯลฯ

ที่สำคัญควรปฏิบัติอย่างคนโง่ดังที่หลวงปู่ท่านสอน ทำตัวเองดังที่ลาดลุ่มที่น้ำคือความรู้จากทิศต่าง ๆ จะไหลเข้ามาได้โดยสะดวก มิใช่ทำตัวเป็นที่ดอน (เย่อหยิ่งว่าฉันรู้แล้ว มีปัญญาเหนือใคร ๆ) สุดท้ายน้ำคือความรู้ก็มิอาจไหลเข้ามายังที่ดอนนั้นได้ แม้อยู่ใกล้บัณฑิต มีพระพุทธเจ้า และพระเถระผู้พ้นแล้ว เป็นต้น ก็ตาม

ขอเพื่อน ๆ สมาชิกที่ได้รับทราบเรื่องราวนี้ ได้นำไปเป็นอุทาหรณ์ เพื่อระวังตนเองและเพื่อนฝูงหมู่คณะใกล้ตัว จะได้ไม่พลาดจนในที่สุดต้อง "ปล่อยให้ตายเปล่าไปชาติหนึ่ง"

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 11 Visits: 16,675,950 Today: 942 PageView/Month: 57,357