luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   รอยธรรม คำย้ำเตือน  (Read: 12759 times - Reply: 4 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

รอยธรรม คำย้ำเตือน
« Thread Started on 10/1/2554 21:59:00 IP : 115.87.24.226 »
 

รอยธรรม คำย้ำเตือน (ตอนที่ ๑)

 

หลวงปู่ดู่ได้สั่งสอนและชี้แนะให้ลูกศิษย์ได้ตระหนักถึงกับดักบนหนทางของการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า คนดีน่ะ เขาไม่ตีใคร และ อย่าให้เลยพระพุทธเจ้าฯลฯ

 

 

 แม้จะเข้ามาในหนทางแห่งการสร้างสมความดีงาม ก็ยังมีสิ่งที่เป็นกับดักรอเราอยู่อย่างมากมาย และเป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก ดังคำพูดของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร ที่ว่า ติดดีน่ะ แก้ยากกว่าติดชั่ว เพราะคนที่ถือตนว่าเป็นนักปฏิบัติ เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นคนเข้าวัดเข้าวา เป็นคนถือศีลกินเจ หรือ เป็นคนปฏิบัติสมาธิภาวนา หากเผลอตัวให้กิเลสแล้ว ความหลงตัวหลงตนจะเข้าครอบงำจนสำคัญว่าตนวิเศษกว่าคนอื่น นอกจากจะเป็นตัวปิดกั้นความดีไม่ให้งอกงามแล้ว ก็ยังจะทำจิตใจเสื่อมลงๆ เที่ยวกล่าวตีคนโน้นคนนี้ ยิ่งกว่าการสอนเตือนตนเอง เข้าลักษณะที่บัณทิตทั้งหลายกล่าวไว้ว่า คนรู้ธรรมะชอบเอาชนะผู้อื่น แต่คนมีธรรมะชอบเอาชนะตนเอง

 

 

และที่เลยเถิดไปกว่านั้น ก็คือเลยพระพุทธเจ้า คือเก่งกว่าพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่าคิดค้นและประกาศสอนแนวทางการปฏิบัติธรรมของตนเองว่าเป็นทางลัดตรง หากเราพิจารณาคำเตือนของหลวงปู่ดู่ที่ว่า อย่าให้เลยพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าจงอย่าอวดดี อย่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธองค์มิได้บัญญัติ  และหากพิจารณาให้ดี ในสามโลกนี้จะหาใครที่มีความบริสุทธิ์ อีกทั้งเปี่ยมด้วยพระกรุณาและพระปัญญาเท่ากับพระพุทธองค์ ดังนั้น หากมีทางลัดตรงกว่านี้ มีหรือที่พระพุทธองค์จะไม่ทรงบอกทรงสอน พระองค์สละชีวิตมานับภพนับชาติไม่ถ้วนก็เพื่อค้นหาหนทางเพื่อความหลุดพ้น คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ และปัญญานี้ มาประกาศสอนแก่สัตว์โลกทั้งหลาย แล้วผู้ที่ประกาศทางลัดเหล่านั้นเล่า จะมีปัญญาเหนือพระพุทธองค์เชียวหรือ 

นอกเหนือจากประเด็นการบัญญัติทางลัดตรงซึ่งดูจะเก่งเกินพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีประเด็นอื่นที่หลวงปู่สอนเตือนให้ระวัง นั่นก็คือการเปิดตัวเป็นครูอาจารย์เร็วเกินควร หรือมุ่งสอนผู้อื่นยิ่งกว่าสอนตน ซึ่งเรื่องนี้หลวงปู่ท่านให้ปฏิบัติตามโอวาทของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ที่ว่า ฝึกตนดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อ่าทำตามพระพุทธเจ้า โดยหลวงปู่ดู่จะพูดย้ำเสมอว่า เอาตัวแกเองก่อนเถอะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: รอยธรรม คำย้ำเตือน
จำนวนข้อความทั้งหมด:  4
1
แสดงความคิดเห็น
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 10/1/2554 22:05:00 IP : 115.87.24.226 »   
Re: รอยธรรม คำย้ำเตือน
 

รอยธรรม คำย้ำเตือน (ตอนที่ ๒)

 

  

หลวงปู่สอนตามพระพุทธเจ้าที่มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติได้ลิ้มรสธรรม มิใช่พอใจหรือสำคัญผิดติดอยู่เพียง ความรู้จำ  ที่ยังมิใช่ ความจริง ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาผู้ที่สามารถจำพระพุทธพจน์ไว้อย่างแม่นยำ แต่ยังขาดการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นที่ใจว่าเป็นเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคที่มิอาจดื่มกินน้ำนมโคที่ตนเลี้ยง ตรงกันข้ามกับคนที่แม้จะไม่สามารถจำพระพุทธพจน์ได้สักเท่าใด แต่อาศัยว่าได้ศึกษาแนวทางที่ถูกตรงมาพอประมาณ แล้วลงมือปฏิบัติธรรมจนเกิดผลขึ้นที่ใจตนเอง พระพุทธเจ้าเรียกผู้นั้นว่า เป็นดุจเจ้าของโคผู้ซึ่งมีสิทธิ์จะดื่มน้ำนมโคของตนได้ตลอดเวลา เรียกว่าได้สำเร็จผลอันพึงปรารถนา

 

พระพุทธวจนะ แท้จริงแล้วก็คือผลแห่งการปฏิบัติหรือที่เรียกว่า ปฏิเวธ เมื่อพระพุทธองค์ทรงนำปฏิเวธซึ่งเป็นธรรมสมบัติที่เกิดขึ้นที่พระองค์มาจำแนกและบอกสอน ก็กลายเป็นปริยัติที่รอการปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดธรรมสมบัติของนักปฏิบัติแต่ละคน ๆ  ทั้งนี้ นอกจากคำพระพุทธวจนะแท้ ๆ แล้ว ก็ยังมีสาวกภาษิต (คำครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ) ก็เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาพิจารณาและปฏิบัติตามเช่นกัน ดังเช่น การอธิบายธรรมของพระปุณณะเถระ (หลานชายของพระอัญญาโกณทัญญะ) กระทั่งทำให้พระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผล ซึ่งถ้าแม้พระอานนท์จะเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์โดยตรงเสมอ ๆ แต่พระอานนท์ก็ไม่อายที่จะประกาศให้ใคร ๆ ทราบว่า พระปุณณะเถระ คืออาจารย์ผู้มีอุปการะมากของพระอานนท์ ทำให้เห็นว่าคำครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้จะมีพยัญชนะที่ต่างจากพระพุทธวจนะ แต่ก็มีอรรถะที่เป็นธรรมอย่างเดียวกับพระพุทธวจนะนั่นเอง

  

อย่างไรก็ดี หากพบว่าคำสอนใดไม่ตรงกับพุทธวจนะ ก็ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าคำสอนนั้นถูกหรือผิด หากแต่ให้ไปพิจารณาเทียบเคียงกับหลักที่พระพุทธองค์ให้ไว้นั่นก็คือ ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ เช่น คำสอนที่ถูกต้องที่สมควรเรียกว่าเป็นธรรมะของพระพุทธองค์นั้น ต้องเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อการไม่สะสมกองกิเลส เพื่อความไม่คลุกคลี และเพื่อความสันโดษ เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

 

ประมวลกำดักที่เรียนรู้จากการอบรมสั่งสอนของลวงปู่ ได้แก่

   

- ติดดี (ซึ่งนับว่าแก้ยากกว่าติดชั่ว เพราะมองเห็นได้ยากกว่า) ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนวัดน่ากลัวกว่าคนห่างวัด

 

-  ปฏิบัติจนเลยครูอาจารย์ เลยพระพุทธเจ้า มุ่งหาทางลัด หรือปฏิบัติไม่ครบองค์ธรรม คือเลือกเอาแต่เฉพาะข้อที่ชอบใจ ข้อที่ลำบากไม่เอาเพราะติดความสบาย จนละเลยการฝึกฝืนกิเลส ซึ่งเป็นภาคสนามของการปฏิบัติ

 

-  พอใจหรือหยุดอยู่เพียงแค่ความรู้ที่จำมาจากตำราหรือคำครูบาอาจารย์ เลยไม่ก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติดัดกายวาจาจิต เพื่อให้ได้ลิ้มรสพระธรรมที่ใจตนเอง ดังที่เรียกว่า ความรู้จริง 

 

หลงยึดแนวทางที่ตนชอบว่าเป็นหนทางสายเอกสายเดียว  มีทัศนะว่าหนทางอื่นเป็นทางอ้อม หรือผิดทาง บางครั้งอาจถึงขั้นปรามาสครูอาจารย์ท่านอื่นก็มี

      - หลงยึดติดเป็นเจ้าข้าวเจ้าของครูบาอาจารย์ หรือยึดหลงกับคำว่า ศิษย์ก้นกุฏฺ เพิ่มอัตตาตัวตนให้มากเข้า แทนที่จะปฏิบัติเพื่อความไม่เป็นอะไร

       - ยึดติดว่า ตนไม่ยึดติด

- ฯลฯ

 

  

อุบายที่จะช่วยให้ก้าวข้ามกับดักต่าง ๆ ไปได้ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

 

 ยึดหลักไว้ว่า ปฏิบัติเพื่อละ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อเอา เพื่อได้ หรือเพื่อเป็นอะไรทั้งนั้น

 

 ยึดธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก หากคำสอนใดแม้เป็นของครูอาจารย์ที่เรานับถือขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ต้องยึดคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธโอวาทในเรื่อง ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ

 

 

 ไม่ตีตัวเสมอครูอาจารย์ รักษาความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เนืองนิตย์ และหมั่นเข้าหากัลยณมิตรผู้มีปฏิปทาปรกติในทางห่างจากโกรธ โลภ หลง

 

 

ปฏิบัติธรรมด้วยใจที่เคารพเอื้อเฟื้อ คือให้ความเคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ไม่ทำตัวแก่วัด แก่ครูบาอาจารย์ ดำรงตนเป็นผู้ใหม่ที่ต้องคอยนอบน้อมและระมัดระวังและสำรวมตนอยู่เสมอ

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nongbug

Posts: 0 topics
Joined: 16/3/2553

ความคิดเห็นที่ 2  « on 10/1/2554 22:42:00 IP : 1.47.234.112 »   
Re: รอยธรรม คำย้ำเตือน
 

อนุโมทนาครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
Aimee2500

Posts: 44 topics
Joined: 14/12/2552

ความคิดเห็นที่ 3  « on 11/1/2554 2:55:00 IP : 86.164.48.74 »   
Re: รอยธรรม คำย้ำเตือน
 
อนุโมทนาสาธุค่ะ
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
yingka

Posts: 50 topics
Joined: 9/11/2552

ความคิดเห็นที่ 4  « on 11/1/2554 15:11:00 IP : 124.122.76.81 »   
Re: รอยธรรม คำย้ำเตือน
 
อนุโมทนาสาธุค่ะ
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 8 Visits: 16,614,360 Today: 5,939 PageView/Month: 85,818