luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”  (Read: 23948 times - Reply: 14 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
« Thread Started on 24/9/2554 9:34:00 IP : 124.122.231.237 »
 

พระสงฆ์ที่ท่านประพฤติในทางเสีย “สมณสารูป” นัยว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นคนไม่ยึดติดอะไร ๆ มุ่งตรงสู่แก่นธรรมแท้ ๆ(สมณสารูป คือกิริยาที่เหมาะสม / สมควรของสมณะ) มุ่งตรงต่อแก่นธรรม แต่กลับมองข้าม “เสขิยวัตร” ซึ่งเป็นข้อบัญญัติของพระพุทธองค์ไปเสีย(เสขิยวัตร คือข้อบัญญัติของพระพุทธองค์ เป็นข้อวัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกปฏิบัติ มี ๗๕ สิกขาบท)Ref Link:
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B5%E0%B8%A5_%E0%B9%92%E0%B9%92%E0%B9%97
 

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีผู้หลงเชื่อตามไม่น้อย และสิ่งที่อันตรายมากที่สุดก็คือ เรื่องทิฏฐิความเห็นที่เข้าใจกันว่าเป็นแนวทางของผู้ไม่ยึดติดและมุ่งสู่แก่นธรรมแท้ ๆ ทั้ง ๆ ที่กำลังตกเข้าไปสู่ความยึดติดในความไม่ยึดติด

คนที่ไม่ยึดติดไม่ได้แปลว่าจะปฏิเสธอะไร ๆ (โดยเพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ไม่มีในพุทธบัญญัติ) ที่ไม่ใช่แก่นธรรมเสมอไป เช่น ปฏิเสธไม่เอารูปเคารพเลย มีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องก็ต้องนำไปฝังดินบ้าง เอาไปใส่หลุมขยะบ้าง มีพระธาตุก็ให้หว่านทิ้ง ... อย่างนั้นหรือ ?

ถ้าปฏิเสธจริง ก็น่าจะปฏิเสธเสนาสนะและอุปกรณ์สมัยใหม่ เป็นต้นว่าปฏิเสธพัดลม ทีวี วิทยุ เครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนกระเบื้องปูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ฯลฯ เพราะไม่มีในพุทธบัญญัติ !!

แท้จริงแล้ว เราใช้มันได้ เพียงแต่ให้เตือนใจเจ้าของ ว่ามันเป็นแค่เครื่องอาศัย ใช้มันได้แต่ อย่าไปเป็นทาสของมัน และ อย่าไปทุกข์เพราะมัน 

สำหรับรูปเคารพนั้นก็เป็นเพียงเครื่องสื่อหรือสมมติ ใช้อย่างมีปัญญาก็มีประโยชน์มาก ส่วนว่าจะปฏิเสธสมมติก็จะเสียประโยชน์มากเช่นเดียวกัน

ธรรมแท้ ๆ ก็เหมือนกับแก่นต้นไม้ หากปราศจากเปลือกและกระพี้แล้ว ต้นไม้นั้นก็ย่อมปรากฏหรือตั้งอยู่มิได้ เพียงแต่เราต้องรู้จักว่าเปลือกก็คือเปลือก กระพี้ก็คือกระพี้ แก่นก็คือแก่น ต่างอันต่างก็มีหน้าที่ของตัวต่างกันไป ธรรมแท้ ๆ ต้องเป็นสิ่งที่สัมผัสใจผู้ปฏิบัติ ไม่มีภาษาพูด แค่เริ่มเอามาอธิบาย ก็ถือเป็นการเริ่มต้นแห่งการใช้สมมติแล้ว

เราจึงควรปรับทิฏฐิเสียใหม่ว่า แทนที่จะปฏิสธสมมติ จะมิดีกว่าหรือที่จะเรียนรู้และใช้สมมติในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น

กรณีตัวอย่าง เช่น มีพระรูปหนึ่งจ้องจับผิดหลวงปู่สิม (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) ว่าท่านเป็นพระกรรมฐานแต่ทำไมมีรถยนต์นั่งส่วนตัว หลวงปู่สิมทราบความในใจ ก็เลยฝากคำพูดให้ได้พิจารณาว่า  “ทีหน้าทีหลังจะไปไหนมาไหน ก็ให้ขี้ม้าก้านกล้วยเน้อ ”

หรืออย่างกรณีที่พระลูกศิษย์ของ หลวงพ่อชา (หลวงพ่อชา สุภัทโท) ท่านปฏิบัติปล่อยวางด้วยการไม่ซ่อมแซมเสนาสนะ คือปล่อยให้หลังคารั่วอยู่อย่างนั้น ทนนั่งตากแดดตากฝน หลวงพ่อชาจึงตำหนิว่า “อย่างนี้เรียกว่าปล่อยวางอย่างวัวอย่างควาย ” คือปล่อยวางอย่างคนโง่

เรื่องปล่อยวางในชั้นละเอียดนั้นถือเป็นโลกุตรธรรม (ธรรมที่พ้นวิสัยของโลก)เมื่อปุถุชนคนไร้ปัญญานำโลกุตรธรรมมาปฏิบัติ ผลก็มักไปในทางไม่ถูกไม่ต้อง  เริ่มต้นจากความปล่อยวางอย่างคนโง่ แล้วก็ไปยึดติดในความไม่ยึดติดนั้น นี่ก็เสียหายแค่เฉพาะตัว แต่พอประกาศสอนทิฏฐินี้ออกไป ก็เสียหายเป็นวงกว้างออกไปอีก

โลกใบนี้มีอะไรให้ศึกษามากมายทั้งถูกและผิด อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาพิจารณาเลือกเฟ้นเอา  ทำให้นึกคำเทศน์ที่สั้นที่สุดของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ที่ว่า  " พิจารณา มหาพิจารณา"

หมายเหตุ ผมเคยเขียนกระทู้นี้ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีเหตุผิดพลาดทางเทคนิค จึงถูก delete ออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ผมจึงเขียนขึ้นใหม่  แต่คงไม่อาจเขียนได้เหมือนเดิม เพราะเป็นการเขียนเอาใหม่โดยไม่มีเนื้อหาเดิมเก็บไว้

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
จำนวนข้อความทั้งหมด:  10
1
แสดงความคิดเห็น
supa

Posts: 2 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 1  « on 24/9/2554 10:05:00 IP : 180.183.201.10 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

ขอบคุณคุณสิทธิ์ ที่อุตสาห์เขียนใหม่และนำลงมาอีกครั้งค่ะ เห็นความตั้งใจแล้วน่าอนุโมทนาค่ะ

กระทู้เดิมยังคงอยู่ค่ะ แต่ชื่อ topic เปลี่ยน เป็น "อุทาหรณ์"

และขอบคุณส่วนที่เพิ่มเติมมาจากกระทู้ก่อนด้วยเจ้า

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 24/9/2554 15:27:00 IP : 58.11.93.177 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

สาธุ..อนุโมทนากับบทความดีๆของคุณพี่สิทธิ์ด้วยครับ

"ยึดติด ในความไม่ยึดติด"

.............................

ธรรมะ..ช่างมิใช่ของง่ายเลยหนอ..

เตือนตัวเองไว้..เตือนตัวเองไว้ ..อย่าได้ประมาทธรรม

ผู้หลงแล้ว.มักหลงเลย อยากจะกลับคืน..

ดูอย่าง พระเกษม..นั่นเป็นไร..

 

 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 3  « on 24/9/2554 21:39:00 IP : 125.24.79.126 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

_/|\_ ขออนุโมทนาอย่างยิ่งแด่พี่พรสิทธิ์เจ้าของกระทู้นี้ค่ะ

 

 พิจารณา มหาพิจารณา เป็นสิ่งสำคัญมากในท่ามกลางโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโลกปัจจุบันที่มีการกล่าวอ้างพระไตรปิฎกเพื่อรับรองความเห็นของตน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสมมติสัจจะ ครรลองคลองธรรม และคติธรรมดา แต่ละบุคคลจึงต้องไม่ประมาทและเร่งขวนขวายอบรมปัญญาในตนเอง เพื่อให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเป็นลำดับๆ ไปจากหยาบสู่ละเอียด เพื่อมิให้ถูกชักจูงให้ตกอยู่ในมิจฉาทิฏฐิซึ่งมีโทษมาก ดังอรรถาธิบายธรรมต่อไปนี้

===================

ความยึดถือทิฏฐิคือความเห็น (หนังสือ สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งรวบรวมจากการแสดงธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖ โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๐)

ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น อันความเห็นนี้หมายถึงความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด แต่ว่าที่ยังยึดถืออยู่ก็เพราะว่ายังไม่รู้ว่าเห็นผิด เมื่อรู้ว่าเห็นผิดเมื่อใดก็ย่อมจะละความเห็นผิดนั้นได้เมื่อนั้น ที่กล่าวว่าความเห็นผิดนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียก คำว่า ทิฏฐิ นี้มีคำประกอบเพื่อให้ชัด ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ตรงกันข้ามคือเห็นถูกเห็นชอบ ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ แต่ว่ามักจะกล่าวกลางๆ คือไม่มีมิจฉา ไม่มีสัมมา กล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ และเมื่อกล่าวว่าทิฏฐิเฉยๆ ก็มักจะหมายถึงความเห็นผิด และยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ อาการที่ยืนยันอยู่ในความเห็นผิดนี้ เป็นตัวอุปาทานคือความยึดถือ อันทำให้ดื้อดึงถือรั้นอยู่ในความเห็นของตนนั้นที่ผิดๆ

โทษของมิจฉาทิฏฐิ (หนังสือ สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งรวบรวมจากการแสดงธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖ โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๕๐)

... เมื่อมีความยึดถืออยู่ในมิจฉาทิฏฐินี้มากจนดิ่งลงอันเรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดที่ดิ่งลงแล้ว ก็ให้เกิดโทษมหันต์ ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆ ที่ท่านผู้รู้ได้แสดงรับรองว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ไม่รับรองคลองธรรมหรือคติธรรมดาทั้งสิ้น ซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่าผู้ที่มีความเห็นดังนี้แล้ว จมดิ่งลงไปสู่อบายคือภูมิภพที่เสื่อม กล่าวได้ว่าตั้งแต่ชาตินี้ ถ้าใครมีความเห็นดั่งนี้ ยิ่งดิ่งลงไปแล้ว หรือแนบแน่นแล้ว เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงแล้ว ก็ยิ่งดิ่งลงเหวลงนรกไปทีเดียว เป็นความเห็นผิดที่ต้องละจึงจะสามารถยกตนขึ้นสู่ภูมิชั้นของมนุษย์ของบุคคลที่เป็นระดับสามัญชนคนดีได้...

===================

พระพุทธรูป เป็นรูปสมมติ โดยหมายให้เป็นสมมติเพื่อการทำความน้อมระลึกด้วยใจซึ่งประกอบด้วยปัญญาอันชอบถึงองค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า  และพระคุณของพระองค์ซึ่งกล่าวโดยย่อ ๓ ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระปริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ

 

บุคคลมีความแตกต่างกันตามธรรมดาธรรมชาติ บางคนที่ยังไม่คล่องแคล่วในการน้อมระลึกในใจ ก็อาศัยรูปสมมติที่เป็นองค์พระบนหิ้งบูชาบ้าง ตามวัดวาอารามบ้าง เพื่อเป็นอุบายหมายรู้ให้ระลึกนึกถึง บางคนมีพระในใจ กราบบูชาพระในใจ เขาเหล่านั้นย่อมถึงพระพุทธรัตนะได้ทุกขณะที่น้อมนึกอยู่ในใจนั้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นที่ต่างน้อมรำลึกอยู่ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธคุณดังกล่าวข้างต้น  ย่อมสมควรแสดงความเคารพทั้งด้วยกาย วาจา และใจ เขาเหล่านั้นย่อมไม่ทำลายแม้รูปสมมติซึ่งเป็นประโยชน์ เป็นเครื่องหมายแห่งการรำลึกนั้นให้เสียไป 

 

ครูบาอาจารย์ทางธรรมทั้งหลายตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบันซึ่งเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านเคารพบูชาในพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) ในฐานะซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ ท่านเคารพด้วยกาย วาจา และใจ ท่านสอนให้ดำเนินในอริยมรรคมีองค์ ๘ (สรุปลงในไตรสิกขา ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ) โดยมีใจเป็นสำคัญ (มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฺฐา มโนมยา) คติธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ยกมาต่อไปนี้ เป็นคติธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ในส่วนที่ได้พรรณนาพระพุทธคุณ วิธีการที่จะถึงซึ่ง พระพุทธ ดวงแก้วหนึ่งในสามของพระรัตนตรัย การดำเนินในมรรคสัจเพื่อดับโลก ๓ และมหาสติมหาปัญญาที่ดวงใจเพื่อการทำลายกิเลส

===================

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ  (จาก หนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ โดย ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ๒๕๔๕)

...

ถาม ท่านนับถือศาสนาอะไร

ตอบ นับถือพระพุทธศาสนา

...

ถาม เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงคุณอย่างไรบ้างเล่า พวกเราจึงต้องนับถือ

ตอบ เมื่อท่านไม่รู้จักคุณของพระพุทธเจ้า แล้วท่านนำเอาอะไรมาถือเล่า ข้าพเจ้าเกือบไม่อยากตอบกับท่าน หรือท่านแกล้งถาม

ถาม ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆ เป็นแต่ได้ยินพระนามของพระพุทธเจ้า และคนทั้งหลายเขาพากันเลื่อมใส ข้าพเจ้าก็พลอยเลื่อมใสไปด้วย ไม่ใช่แกล้งถาม ขอท่านจงกรุณาอธิบายพุทธคุณให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ท่านก็จะได้บุญในส่วนธรรมทานด้วย

ตอบ เมื่อท่านไม่เข้าใจจริงๆ ข้าพเจ้าจะพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าให้ท่านเข้าใจโดยย่อ เพราะว่าคุณของพระพุทธเจ้านั้นมากไม่มีที่สุด เหลือที่จะพรรณนา แต่ถ้าย่อเข้าก็มี ๓ ประการ คือ

๑.     พระปัญญาคุณ เพราะพระองค์ตรัสรู้ธรรมอย่างเยี่ยม มีอริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น จึงได้ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองชอบแล้ว

๒.   พระปริสุทธิคุณ เพราะพระองค์ไกลจากกิเลส ... พระหฤทัยเฉยเป็นกลางด้วยฉฬังคุเบกขา จึงได้ทรงพระนามว่า อรหํ ผู้ควรรับบูชาสักการะเคารพนับถือของโลก

๓.    พระกรุณาคุณที่พระองค์ทรงแสดงธรรมสั่งสอน โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก และไม่ได้ทรงมุ่งหวังต่อลาภสักการะ ทรงสอนไม่เลือกหน้าว่า กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คฤหบดี หรือคนยากจนเข็ญใจ ผู้ใหญ่และเด็ก ตลอดถึงเทวดา อินทร์ พรหม พระองค์มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณาแผ่ไปในหมู่สัตว์ไม่มีประมาณ แม้ที่สุดอยู่ในที่ไกลๆ ก็อุตส่าห์เสด็จไปสอน พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ อย่าง จนตลอดดับขันธปรินิพพาน ... ดั่งนี้ จึงได้ทรงพระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พระองค์เป็นครูสั่งสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ถาม ข้าพเจ้าได้ฟังคำอธิบายพระคุณ ๓ ประการ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น รู้สึกปีติยินดีเลื่อมใส ควรไหว้ ควรบูชา แต่เดิมข้าพเจ้าไม่เข้าใจในพระพุทธคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ก็ไม่ได้เกิดความเลื่อมใสเหมือนอย่างได้ฟังคำอธิบายในวันนี้

ตอบ ถูกแล้ว ผู้ไม่รู้จักเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ถึงจะกราบไหว้ไป ก็ดำเนินใจไปตามพุทธคุณไม่ถูก จึงไม่เกิดความเลื่อมใส

ถาม เมื่อทราบพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้ว วิธีที่จะถึงพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งนั้น จะถึงอย่างไร

ตอบ วิธีถึงนั้นมี ๓ ชั้น ถ้ากราบไหว้ก็ถึงด้วยกาย ถ้าพรรณนาพุทธคุณมีบทอิติปิโสเป็นต้น ก็ถึงด้วยวาจา ถ้าระลึกพระพุทธคุณตามบทอิติปิโส หรือพระคุณ ๓ ประการที่ได้อธิบายมาแล้ว ก็ถึงด้วยใจ นี่แลเรียกว่าถึงพระพุทธเจ้า

...

ถาม วิธีบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีกี่อย่าง

ตอบ มี ๒ อย่าง คือ บูชาสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น ชื่อว่า อามิสบูชา การประพฤติปฏิบัติทำตนของตนให้เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปฏิบัติบูชา...

คติธรรมคำสอน พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ  จาก หนังสือ มุตโตทัย ฉบับ ส.ค.ส. ๒๕๔๐

...พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลก ๓ รุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ญเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลาย ทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้ จนเป็น อกิริยา ก็ย่อมดับโลก ๓ ได้ การดับโลก ๓ นั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลก เลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียว เมื่อจะดับโลก ๓ ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลก ๓ คงดับอยู่ที่จิต ๆนั่นเองเป็นโลก ๓ ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลก ๓ พึงดับที่จิตของตนๆ จนทำลายกิริยา คือตัวสมมติ หมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรม อันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

...มรรคสัจไม่มีอยู่ที่อื่น มโน เป็นมหาฐาน มหาเหตุ วิสุทธิธรรมจึงต้องอยู่ที่ใจของเรานี่เอง ผู้เจริญมรรคต้องทำอยู่ที่นี้ ไม่ต้องไปหาที่อื่น การหาที่อื่นอยู่ชื่อว่ายังหลง ทำไมจึงหลงไปหาที่อื่นเล่า? ผู้ไม่หลงก็ไม่ต้องไปหาทางอื่น ไม่ต้องหากับบุคคลอื่น ศีลก็มีในตน สมาธิก็มีในตน ปัญญาก็มีอยู่กับตน ดังบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ เป็นต้น กายกับจิตเท่านี้ประพฤติปฏิบัติเป็นศีลได้ ถ้าไม่มีกายกับจิต จะเอาอะไรมาพูดออกว่าศีลได้ คำที่ว่าเจตนานั้นเราต้องเปลี่ยนเอาสระ เอ ขึ้นบนเป็นสระ อิ เอาตัว ต สะกดเข้าไปก็พูดได้ว่า จิตฺตํ เป็นจิต จิตเป็นผู้คิดงดเว้น เป็นผู้ระวังรักษา เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติซึ่งมรรคและผลให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกขีณาสวเจ้าก็ดี จะชำระตนให้หมดจดจากกิเลสทั้งหลายได้ ท่านก็มีกายกับจิตทั้งนั้น เมื่อท่านจะทำมรรคและผลให้เกิดมีได้ก็เป็นอยู่ที่มี (คือที่กายกับจิต) ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า มรรค มีอยู่ที่ตนของตนนี้เอง เมื่อเราจะเจริญซึ่งสมถะหรือว่าวิปัสสนา ก็ไม่ต้องหนีจากกายกับจิต ไม่ต้องส่งนอก ให้พิจารณาอยู่ในตนของตนเป็น โอปนยิโก แม้จะเป็นของมีอยู่ภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ก็ไม่ต้องส่งออกเป็นนอกไป ต้องกำหนดเข้ามาเทียบเคียงตนของตน พิจารณาอยู่ที่นี้ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ เมื่อรู้ก็ต้องรู้เฉพาะตน รู้อยู่ในตน ไม่ได้รู้มาแต่นอก เกิดขึ้นกับตน มีขึ้นกับตน ไม่ได้หามาจากที่อื่น ไม่มีใครเอาให้ ไม่ได้ขอมาจากผู้อื่น จึงได้ชื่อว่า ญาณทสฺสนํ สุวิสุทฺธํ อโหสิ ฯลฯ เป็นความรู้เห็นที่บริสุทธิ์แท้ ฯลฯ

คติธรรมคำสอน หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จาก หนังสือ ธรรมพระบูรพาจารย์ โดย คณะศรัทธาและศิษยานุศิษย์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ (มปป.)

รูปไม่ใช่กิเลส เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ใช่กิเลส มันเป็นทางเดินประสานหากันเท่านั้น

ตัวใจต่างหากเป็นกิเลสตัณหา เป็นตัวภพตัวชาติ

คนเราถ้ามีกิเลสเต็มตัวแล้ว มันก็เหมือนหมูเราดีๆ นี่เอง กินแล้วนอนๆ จนอ้วนพี เขาก็นำไปขึ้นเขียงสับบั่นเท่านั้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมเขาจึงไม่เลี้ยงกิเลส เขาทำลายกิเลสทั้งนั้น

จงพยายามทำสติธรรมดาให้กลายเป็น มหาสติ ขึ้นมา

และจงทำให้ปัญญาธรรมดาให้กลายเป็น มหาปัญญา ขึ้นมาที่ดวงใจของเรา

เมื่อสติมีกำลังจนเพียงพอแล้ว เราจะเดินปัญญาพิจารณา

แม่กิเลสจะหนาแน่นเหมือนภูเขาทั้งลูก ก็ต้องทะลุไปได้ โดยไม่ต้องสงสัย

===================

_/|\_ พุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา อาจาริยบูชา

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ธุลีดิน

Posts: 0 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 4  « on 25/9/2554 2:41:00 IP : 58.8.213.57 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

ทุกครั้งที่เข้ามาแอบอ่าน...เมื่อคุณพี่สิทธิ์ หรือาจารย์เมธาตั้งกระทู้..

และคุณ Nidapan ตอบ..โดยยกข้อความบางบทบางตอนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อกระทู้ จากหนังสือเล่มครูแต่ละเล่ม..ของครูบาอาจารย์องค์สำคัญ มาอรรถาธิบายขยายความ

จะรู้สึกชอบมาก..

เห็นได้ถึงความมานะพยายาม ความยากลำบากในการค้นหาบทความจากหน้านั้นๆ..จากหนังสือแต่ละเล่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายเลย..

หนังสือบางเล่มแม้ใด้เคยอ่านผ่านตามาบ้าง.. แต่ด้วยระยะเวลานานวันย่อมลืมเลือน

การได้กลับมาเห็นใหม่ อ่านใหม่ ..ย่อมเกิดประโยชน์โดยแท้ กระตุ้นต้อมสำนึก เตือนตนในความไม่ประมาท เข้าไปอีก

อะไรที่หย่อนๆไป..เมื่อกลับมาได้รับการกระตุ้นจากบทความดีๆ..ย่อมมีประโยชน์แท้

ขอขอบคุณ..ทั้งผู้ตั้งกระทู้ และผู้ตอบกระทู้ทุกท่านครับ 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 5  « on 25/9/2554 11:21:00 IP : 125.24.37.16 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 
ไฟล์แนบ ...


_/|\_ ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาแด่คุณธุลีดินและพี่พรสิทธิ์ค่ะ แต่อดีตจะเป็นอย่างไรนั้น นิดาก็ไม่ทราบหรอกค่ะ

เรื่องที่พี่พรสิทธิ์ทิ้งท้ายไว้ให้เพื่อนสมาชิกแสดงความเห็นกันนั้น นิดาเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกหลายท่านต่างก็น่าจะเคยได้อ่านได้ฟังหรือได้เรียนกันมา แต่ก็อาจมีที่ลืมเลือนไปบ้างตามกาลเวลา หรือด้วยเหตุใดก็ตาม

แต่การพัฒนาตนในทางธรรม ท้ายที่สุดและสำคัญที่สุด อยู่ที่การปฏิบัติธรรมให้จริงเพื่อให้เกิดผลจริงเป็นลำดับๆ เพือปลูกศรัทธาและความเห็นที่ถูกตรงเป็นลำดับๆ ในแบบหยั่งรากแก้วลงลึก เพื่อให้ต้นธรรมนั้นงอกงามอย่างมั่นคงจนสมบูรณ์ ดังบทสวดบูชาพรรณาพระธรรมคุณ "สวากขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพพ วิญญูหิติ" นั่นเอง

การปฏิบัติ ต่างคนต่างต้องทำด้วยตนเอง รู้ผลเอง

ในที่นี้ ในไฟล์ที่แนบมา นิดาเพียงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและคติธรรมครูบาอาจารย์ส่วนหนึ่งมา เพื่อประโยชน์แก่ท่านที่ไม่มีข้อมูลและหนังสือรวบรวมเนื้อหาคติธรรมนี้ หรือเคยมีแต่ลืมเลือนค่ะ

_/|\_ พุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา และอาจาริยบูชาค่ะ

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 6  « on 25/9/2554 18:12:00 IP : 125.24.56.215 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

_/|\_ คุณสุภาค่ะ

_/|\_ ขออนุโมทนาแด่คุณเพียงดิน สมาชิกทุกท่านที่นำธรรมะ สิ่งดีงาม และความตั้งใจดีมาแบ่งปัน กลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำผู้ริเริ่มและดูแลเว็บหลวงปู่ดู่ โดยเฉพาะพี่พรสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญทำให้นิดาได้มีโอกาสศึกษาธรรมะหลวงปู่ดู่ค่ะ 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ดาวมงคล

Posts: 0 topics
Joined: 17/12/2553

ความคิดเห็นที่ 7  « on 26/9/2554 9:25:00 IP : 14.207.222.254 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

ขออนุโมทนา ให้กับพี่ๆทุกท่านครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 8  « on 27/9/2554 10:42:00 IP : 125.24.38.179 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

_/|\_ สวัสดีและขออนุโมทนาแด่กุศลทั้งปวงที่คุณรอนแรมได้ประกอบไว้แล้วค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ronram

Posts: 6 topics
Joined: 18/8/2554

ความคิดเห็นที่ 9  « on 27/9/2554 21:16:00 IP : 115.87.50.55 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 
nidapan Talk:

_/|\_ สวัสดีและขออนุโมทนาแด่กุศลทั้งปวงที่คุณรอนแรมได้ประกอบไว้แล้วค่ะ



สวัสดีและขออนุโมทนาบุญทุกๆบุญ ที่คุณนิได้ทำมาดีแล้วเช่นกันครับ และขอให้คุณนิสมปรารถนาที่ตั้งไว้ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 10  « on 28/9/2554 9:01:00 IP : 125.24.22.26 »   
Re: ยึดติด ในความ “ ไม่ยึดติด ”
 

_/|\_ ขอขอบพระคุณคุณรอนแรมค่ะ และขอให้ท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่านประสบผลแห่งธรรมสมดังความตั้งใจและความปรารถนาดีในธรรมของตนๆ ค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 14 Visits: 16,689,660 Today: 2,894 PageView/Month: 71,213