luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและโอวาทครูบาอาจารย์  (Read: 10351 times - Reply: 6 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและโอวาทครูบาอาจารย์
« Thread Started on 4/10/2554 8:19:00 IP : 203.148.162.151 »
 

เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชนโดยสมัครใจ (พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ไม่ได้เชื้อเชิญหรือบังคับใจ) ดังนั้น การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและคำครูบาอาจารย์จึงเป็นเรื่องปรกติ และเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะเราควรประมาณตนว่าเรามิใช่สัพพัญญู อีกทั้งมีสติปัญญาน้อย ต้องคอยเอาพระธรรมมาเป็นแผนที่ เข็มทิศ และไม้บรรทัดตีกรอบตัวเองไม่ให้ไปผิดทาง อยู่เสมอ ๆ

ประเด็นปัญหาจึงมิใช่อยู่ที่ว่าจะอ้างอิงหรือไม่อ้างอิง (เพราะมีความชัดเจนว่าควรอ้างอิงเป็นพื้น) หากแต่อยู่ที่การอ้างอิงอย่างถูกตรงตามธรรม

ปัญหาการอ้างอิงที่ไม่ชอบธรรม เช่นกรณีของสำนักปฏิบัติใหญ่แห่งหนึ่ง แต่งตั้งบุคคล (เป็นถึง ดร. แต่ไม่มีตัวตนจริงในทะเบียนราษฎร์ ซึ่งตำรวจออกประกาศจับไปเมื่อหลายปีก่อน) ทำนองเป็นนักวิชาการออกมาอ้างอิงพระไตรปิฎกแบบตัดต่อ คือเอาท่อนนั้นนิด ท่อนนี้หน่อย เกิดเป็นความหมายอย่างที่ตนต้องการ เพื่อไปหักล้างและ discredit พระผู้รู้ ที่แสดงทัศนะขัดแย้งกับคำสอนของสำนักนั้น

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือมีการอ้างอิงถูกต้องก็จริง แต่ตีความเฉไฉไปในทางอื่น (ที่ให้สอดคล้องกับคำสอนของสำนักตน) ผู้ขาดการศึกษาและขาดดุลยพินิจที่ดี ฟังแล้วก็อาจหลงเชื่อไปได้ เช่นอย่างกรณีมีสำนักหนึ่งยก "เสขสูตร" ที่พระพุทธองค์ตรัสเหตุแห่งความเสื่อมของการเจริญธรรมของพระภิกษุไว้ อาทิ ความเป็นผู้ยินดีในการก่อสร้าง ความเป็นผู้ยินดีในการเจรจาปราศรัย และความเป็นผู้ยินดีในการนอน เป็นต้น สำนักนั้นกลับเอาไปอ้างอิงสนับสนุนทัศนะของเขาที่ว่า "มรรคผล ได้แล้ว ก็เสื่อมได้ ...พระบางองค์เคยเป็นพระอรหันต์ แต่มาบัดนี้อาจไม่ใช่แล้วก็เป็นได้" โดยอธิบายว่า ถ้าตั้งอยู่ในเหตุแห่งความเสื่อมดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนในเสขสูตร เป็นโสดาก็เสื่อมได้ เป็นพระอรหันต์ก็เสื่อมได้ อย่างนี้จึงไม่ถูกตามธรรม เพราะขัดกับพระพุทธดำรัสที่ว่าโสดาจะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ พระสกิทา ซึ่งชื่อก็บอกความหมายในตัวว่าเกิดอีกชาติเดียว พระอนาคาไม่มาเกิดในโลกมนุษย์แล้ว (จะสำเร็จที่ชั้นพรหม) ส่วนพระอรหันต์คือผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงและไม่กลับกลาย (เสื่อมจากความบริสุทธิ์) ได้อีกเลย

สรุปก็คือการอ้างอิงพุทธวัจนะและคำครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งที่ควร ไม่ใช่ประเด็นปัญหาว่าควรอ้างอิงหรือไม่ควรอ้างอิง แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ความรู้และความบริสุทธิ์ใจในการอ้างอิงต่างหากที่ควรคำนึงถึงเป็นสำคัญ

พระพุทธวัจนะและคำครูบาอาจารย์ที่รวมไว้เป็นตำรา หากเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ตามตำราที่ถูกตรง) นอกจากไม่เป็นสิ่งปิดกั้นปัญญาแล้ว ยังทำให้ปัญญาของเรางอกงามไพบูลย์ทั้งในส่วนสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญาในที่สุด

ตรงกันข้าม หากเราไม่อาศัยตำราธรรมเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎก) ก็ไม่รู้ว่าเราปฏิบัติศาสนาอะไร ซึ่งอาจทำให้เราแล่นเข้าสู่ความยึดมั่นหมายมั่นในทัศนะของตนยิ่งกว่าธรรมของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอาจเลยเถิดไปถึงการบัญญัติทัศนะอันเป็นบ่อเกิดแห่งลัทธิแปลกใหม่ได้อีกด้วย 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและโอวาทครูบาอาจารย์
จำนวนข้อความทั้งหมด:  2
1
แสดงความคิดเห็น
Dugong

Posts: 1 topics
Joined: 11/2/2553

ความคิดเห็นที่ 1  « on 4/10/2554 9:39:00 IP : 202.44.4.252 »   
Re: การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและโอวาทครูบาอาจารย์
 

ชอบด้วยเหตุผลแล้วครับ จะอ้างอิง หรือไม่อ้างอิงดูที่เจตนา และผลที่จะเกิดว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสีย ถ้าเห็นว่าจะเกิดผลดีมากกว่า ก็ควรอ้างอิง ถ้าเห็นว่าอาจเกิดผลเสียมากกว่า ก็ไม่ควรอ้างอิง

การเป็นผู้ที่ช่วยรักษาความจริงในอีกมุมหนึ่งคือการบอกกล่าว ว่า "ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้.." ผู้ฟังย่อมทราบว่าเป็นทัศนะส่วนตัวของผู้พูด

สิ่งที่น่าห่วงก็คือ การอ้างอิง โดยมีอคติ อย่างที่พี่กล่าว จะระวังตัวในการอ้างอิงไม่ให้เป็นดังกรณีตัวอย่างครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
nidapan

Posts: 6 topics
Joined: 12/8/2554

ความคิดเห็นที่ 2  « on 4/10/2554 9:44:00 IP : 125.24.17.52 »   
Re: การอ้างอิงพระพุทธวัจนะและโอวาทครูบาอาจารย์
 

_/|\_ ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 

*********

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านกล่าวว่า เราเอาหลักธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง ทีนี้เมื่อธรรมวินัยตั้งอยู่ที่ไหนๆ เข้ากันได้หมด (จาก หนังสือ หลวงปู่ทา จารุธัมโม พระอริยเจ้าผู้มีธรรมงามพร้อม...๒๕๕๐)

*********

(จาก หนังสือ ธรรมเป็นของลำบากมาก โดย พระหล้า เขมปตฺโต ๒๕๔๒)

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านกล่าวว่า

 

ถ้าจะว่าให้ละเอียดแล้ว คำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นยอดของคำนำแล้ว เพราะนำจนถึงพระนิพพาน จะไม่ถึงในชาติปัจจุบันก็ถึงในชาติอนาคตได้ไม่ผิดเลย คำว่าอนาคตก็หมายเอาชาติหน้าไปจนไม่มีที่หมาย นับเอาแต่ชาติหนึ่งไปจนถึงอสงไขยชาติ ตามกรรมและผลของกรรมของสัตว์อันจะพึงได้อันจะพึงถึง

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากกว่าร้อยโกฏิที่ล่วงไปแล้ว ที่จะมาในข้างหน้าอีก ก็โดยนัยเดียวกัน ก็ทรงคำสอนตรงกันไม่แปลกกัน ไม่จำเป็นจะไปหาเสียงที่ใดอีก

 

เราขี้ขลาดไม่อยากจะปฏิบัติบิดามารดาของตนเอง เกรงท่านผู้อื่นจะเพ่งโทษ แล้วสำคัญตัวว่าฉลาดก็กลายเป็นโมฆะอกตัญญูจริงไหมล่ะ (บิดามารดาคือธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาเนี่ย)

 

มนุษย์พระพุทธศาสนาอันมีพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาในจิตใจเป็นเจ้าหัวใจอยู่บ้างแล้ว นึกคิดทำพูดอะไรๆ ก็มีธรรมวินัยเป็นอาจารย์ของหัวใจ เป็นเครื่องคำนึงเท่าที่ควรอยู่ แม้ถึงคราวพลาดบ้างก็มีประตูแก้ ไม่ถึงกับนับสิบไม่ลุกเลย อนิจจาเอยฯ ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็แดงโล้เลย ไม่มีประตูแก้ โลกก็แคบไม่มีที่อยู่ได้ฯ

 

 รู้ดีอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาเบื้องต้นรับรองเอาแต่ธรรมวินัยของอริยะสุปฏิปันโนเป็นต้นไปเป็นเกณฑ์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายเอาสุ่มสี่สุ่มห้าที่ชาวโลกบัญญัติเอาตามอัตโนมัติของเจ้าตัวเลย

*********

 

อนึ่ง แม้ในทางวิชาการโลก หลักการและความรู้ใดๆ หากเรามิใช่ผู้ริเริ่มคิดและนำเสนอหลักการและความรู้นั้นเป็นคนแรก เมื่อใดที่เรานำไปใช้เราก็พึงระลึกเสมอว่างานของเราที่สำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยคุณูปการแห่งหลักการความรู้ที่เป็นบาทฐานนั้นๆ และก็ด้วยอาศัยคุณูปการของผู้คิดค้นหลักการนั้นที่ได้คิดค้นและบัญญัติไว้ให้เราได้อาศัยสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อยอดต่อไป เมื่อเราเรียบเรียงรายงานของเรา ในส่วนที่กล่าวถึงหลักการพื้นฐานที่เราได้อาศัยสร้างงานของเรา เราจะต้องอ้างอิงหลักการและผู้คิดค้นหลักการพื้นฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้เป็นความชัดเจนว่าส่วนใดเป็นความรู้ที่ได้มาจากท่านผู้อื่น ส่วนที่เป็นความรู้ความเห็นของเราก็จำแนกให้ชัดไว้ ต้องไม่นำมาปนเปคละเคล้ากับความเห็นของเราโดยปราศจากการอ้างอิงให้ถูกต้องตามส่วนข้อความซึ่งจะนำไปสู่ความสับสนและคลาดเคลื่อนได้ การอ้างอิงที่ถูกต้องถูกตรงนอกจากทำให้เกิดความชัดเจนแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพให้เกียรติต่อผู้มีคุณูปการทางวิชาความรู้ที่เป็นต้นแบบในแขนงความรู้นั้นๆ อีกด้วย

 

_/|\_ ด้วยบารมีแห่งพระไตรสรณาคมณ์ ตลอดจนคุณูปการของบูรพาจารย์ทางธรรม ขอความสวัสดีในธรรมจงมีแด่ทุกท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 4 Visits: 16,690,410 Today: 288 PageView/Month: 71,971