หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน
คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป
(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)
|
|
Started by |
|
|
Topic: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (Read: 34324 times - Reply: 21 comments) |
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
|
« Thread Started on 20/1/2557 16:52:00 IP : 180.183.68.18 » |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๑)
ชีวิตในวัฏวน นักบวชนี่ต้องเป็นคนใจดี ต้องอดทน ต้องอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ต่างๆ เช่นนั้น จึงเรียกว่า นักบวช ต้องเป็นคนใจหนักแน่นนะ ไม่ใช่เป็นคนใจเบา เราฝึกฝนตนไปนี่ เป็นนักบวชนี่ หากว่าอยู่ไม่ได้สึกออกไปอย่างนี้ มันก็ยังได้ใช้นิสัยอันนี้ มันก็ติดไป มันก็ยังได้เอาไปใช้ในสังคมโลกเขา ก็ได้รับยกย่องจากเพื่อนฝูง คนอดทนอดกลั้น เมื่อได้รับความกระทบกระทั่งและไม่โกรธ ไม่ฉุนเฉียว อดได้ทนได้อย่างนี้นะ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย นี่ถ้าใครใจเหลาะแหละ ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรหน่อยก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ย่อมไม่เป็นที่รักของคนทั้งหลายเลย ตลอดจนถึงเทวดาก็ไม่อนุโมทนานะ ถ้าใครอดได้ทนได้ เทวดาก็รักก็อนุโมทนา มันเป็นอย่างนั้นนะ ขอให้เข้าใจ เราเป็นนักบวช เราต้องรู้ธรรมของนักบวช นักบวชเป็นนักเสียสละนะ เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างนะ
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
แสดงความคิดเห็น |
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 1 « on 23/1/2557 10:13:00 IP : 180.183.23.221 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๒)
เหตุปัจจัยในวัฏวน
ทุกคนนะจะต้องอยากให้ชีวิตมันเที่ยงมันยั่งยืน ไม่ต้องการให้มันวิบัติ แต่แล้วมันก็วิบัติ มันห้ามไม่ได้ ไม่อยากให้มันแก่ มันก็แก่ทรุดโทรมไป ไม่อยากให้มันเจ็บป่วยไข้ มันก็ไม่ฟัง ถึงเวลาเจ็บป่วย มันก็เจ็บป่วยลงไป ถึงเวลาตายมันก็ตายไป แต่ใครๆ ก็ไม่ชอบเลย เรื่องหมู่นี้นะ แต่ก็ต้องได้รับ นี่แหละคำว่า “ทรมาน” นั่นน่ะ แต่คนเราก็ไม่รู้ตัวหรอก ส่วนมากนะไม่รู้ตัว ว่าตนได้มาทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอันนี้
ที่ไม่รู้นั้นละ เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะอวิชชา ตัณหา มันครอบงำความรู้สึกอันนี้ไว้ มันปิดบังไว้เลย มันครอบงำไม่ให้จิตคิดถึงเรื่องชีวิต ดังกล่าวมานี้ เหตุนั้นมันจึงไม่เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ในโลกอันนี้ เพราะตัณหามันย้อมใจให้ชื่นชมยินดีกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจ
ตัณหามันย้อมใจให้มีความยินดีกับของไม่เที่ยง อวิชชา โมหะ มันย้อมใจให้สำคัญผิดคิดว่าสวยว่างาม ว่าน่ารัก น่าใคร่ น่าเชยชม น่าสัมผัสถูกต้อง นี่แหละ อวิชชา ตัณหา โมหะ มันครอบงำจิตแล้วมันเกิดเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงแล้ว รูป เป็นต้น ไม่มีอะไรสวยงาม ไม่มีสิ่งใดที่น่าชมเชย มีกลิ่นก็เหม็น มีสีก็ไม่งาม มีทรวดทรงก็ไม่น่ารักใคร่อะไร โดยอาศัยการประคบประหงม อาบน้ำชำระขัดไคลอยู่เสมอๆ มันจึงพอเข้าใกล้กันได้บ้าง
นั่นล่ะเราจึงควรพิจารณาให้ถึงความจริง อย่าไปปิดบังความจริงไว้ เพราะคนส่วนมากมันปิดบังความจริงไว้ ไม่อยากจะรู้ความจริงของร่างกาย เพราะฉะนั้นมันจึงหลงอยู่ในสงสารอันนี้
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 2 « on 3/2/2557 9:54:00 IP : 180.183.17.209 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๓)
กิเลสภัยของจิต
เราต้องเชื่อบุญ เชื่อวาสนาของตัวเอง เมื่อตัวเองทำดีไป พูดดีไป คิดดีไป อาศัยคุณงามความดีที่เรากระทำบำเพ็ญมานี้หนึ่ง อาศัยบุญกุศลที่เราได้กระทำมาแต่ครั้งอดีตชาติหนหลังหนึ่ง มาประกอบกันเข้า มันก็มีพลังดลบันดาลให้มีอดิเรกลาภเข้ามา ไม่อดอยากในปัจจัยเครื่องอาศัยต่างๆ คนเรามันต้องเชื่อบุญเชื่อกรรม หลักนี้อย่าไปทิ้ง
เมื่อทิ้งหลักนี้แล้ว จิตใจก็ตกไปทางอกุศล อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ เมื่อรู้ว่าตนมีบุญวาสนาน้อย ที่ได้ทำมาแต่ชาติก่อน มาในชาติปัจจุบันนี้ แสวงหาทรัพย์สมบัติ ปัจจัยอะไรก็ไม่ได้ ไม่ร่ำรวยเหมือนคนอื่นเขา อย่างนี้ เมื่อนึกถึงว่าชาติก่อนเราคงทำบุญกุศลมาน้อย อย่างนี้เราจึงไม่เดือดร้อนใจ ไม่ต้องไปอิจฉาตาร้อนคนอื่นที่เขาร่ำรวยกว่าตน เพราะบุญของเรามันน้อยแต่ชาติก่อนโน้น ตนมัวเมา ประมาท ทำดีอะไรก็ทำนิดๆ หน่อยๆ ไม่ทำมากเหมือนอย่างคนบางคน แล้วเกิดมาชาตินี้จะให้ผลของการทำดีนิดๆ หน่อยๆ มาอำนวยให้มากๆ น่ะ มันจะได้อย่างไรล่ะ
เหมือนอย่างคนปลูกมะพร้าวต้นเดียวอย่างนี้นะ มันผลิดอกออกผลมา มันก็ได้แค่ต้นเดียวนั่นแหละ มันจะไปได้หลายต้นยังไงเล่า เพราะว่าตนปลูกต้นเดียว อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ตนทำบุญนิดหน่อยจะให้ได้ผลมาก มันมาจากไหนล่ะ ไม่ได้นะ ไม่ว่าคฤหัสถ์ ไม่ว่านักบวช เหมือนกันนะ ฉะนั้น ผู้ใดหวังความสุข ความเจริญมากๆ ก็ต้องทำความดีให้มากๆ เข้าไป อย่าเกียจคร้าน อย่าปล่อยให้ชีวิตมันร่วงโรยไปเสียเปล่า
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 3 « on 7/2/2557 16:35:00 IP : 180.183.225.127 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๔)
พุทธศาสนานี้ มุ่งสู่สันติสุข
ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล อยู่ในเมตตากรุณา ความโกรธมันก็กลัว ไม่กล้าครอบงำจิตของผู้นั้นได้ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในทาน การให้บริจาค อย่างนี้ ความโลภ ความตระหนี่หวงแหนมันก็กลัว มันก็ไม่กล้าเข้ามาครอบงำจิตของผู้นั้นได้ ผู้ใดมีภาวนาอยู่ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ประจำอยู่กับใจเสมออย่างนี้นะ ความหลงมันก็กลัว ไม่กล้าไปครอบงำจิตท่านผู้นั้นเช่นได้ ท่านผู้เช่นนั้นเป็นผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา คำว่า ตื่นอยู่ หมายความว่า รู้แจ้งความดี ความชั่วในโลก อันนี้ตลอดเวลาเลย เมื่อรู้แจ้งมันก็ไม่ยึดถือแล้ว
เช่นอย่างว่า นาย ก. นาง ข. ทำดีอย่างนี้นะ แทนที่จะไปรักใคร่ว่า นาย ก. นาง ข. นั้นเป็นคนดี แล้วจะไปชื่นชมยินดีว่า นาย ก. นาง ข. นั้นเป็นคนดี นั่นไม่เป็นนะ ก็รู้แล้วว่าเขาทำดี ความดีนั้นก็ไปอำนวยความสุขให้แก่เขา อย่างนี้นะ ก็ของใครของมันนะ แล้วจะไปยึดเอาของเขามาทำไมล่ะ ความดีนะของใครของมัน เงินใครเงินมัน ต่างคนก็ต่างจับจ่ายของใครของมันนะ เราจะเอาเงินของคนอื่นมาจ่าย เขาจะให้ทำไมล่ะ นั่นล่ะ
อันนี้ความดีของใครทำ ผู้นั้นก็ได้ดีไป ผู้ใดทำดีได้ถึงขั้นไหน ก็พ้นทุกข์ไปได้ขั้นนั้น ตนทำดี ตนละกิเลสไปได้เท่าไหร่ ตนก็พ้นทุกข์ไปได้เท่านั้น อย่างนี้ล่ะเขาจึงเรียกว่า คนมีภาวนา คนมีสมาธิ มีปัญญา รู้แจ้งทั้งดี ทั้งชั่ว ตามเป็นจริง รู้แจ้งแล้วไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น เพราะความดีนั้นมันไม่เที่ยง ความชั่วมันก็ไม่เที่ยงนะ
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 4 « on 9/2/2557 14:49:00 IP : 180.183.68.97 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๕)
อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
การรักษาศีล ศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะอาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา ถ้ามีแต่รักษาศีลเฉยๆ ไม่ทำใจให้เป็นสมาธิ ไม่อบรมปัญญาให้เกิดขึ้น เช่นนี้ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ได้ ย่อมเศร้าหมอง เพราะบางคนพอจิตไม่เป็นสมาธิแล้ว เผลอสิ เผลอพูดผิดพลาดออกไปโดยไม่รู้ตัว อย่างนี้นะ มันก็เศร้าหมองขุ่นมัวไป การที่บุคคลจะรู้ได้ว่า พูดอย่างไรให้เป็นประโยชน์ มันก็ขึ้นอยู่กับปัญญาอีกแหละ ข้อปฏิบัติเหล่านี้มันเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่เป็นคนละอันกันนะ
เมื่อจิตมีปัญญาแล้ว ก็จะรู้จักว่าเรื่องนี้ควรพูด พูดแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง แล้วพอนึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้ว พิจารณาด้วยปัญญาก็เห็นแจ้งว่าเรื่องนี้ไม่ควรพูด ถ้าพูดไปแล้วมันก็กระทบกระทั่งคนอื่น ให้เป็นทุกข์เดือดร้อนไป มันรู้ด้วยปัญญาแล้วมันก็ไม่พูดนะ นี่ล่ะจึงว่า การที่ศีลจะบริสุทธิ์ได้จริงจัง มันก็ยังอยู่ที่ปัญญานั่นแหละ อยู่ที่สมาธิ อยู่ที่ปัญญา ท่นจึงเรียกว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราต้องเข้าใจไว้
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
สิทธิ์ |
Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552
|
|
ความคิดเห็นที่ 5 « on 11/2/2557 12:45:00 IP : 203.148.162.151 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
คนแอบอ่าน Talk: |
อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราต้องเข้าใจไว้
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
ขอบพระคุณพี่คนแอบอ่านครับ
เรื่องการสนับสนุนซึ่งกันและกันของศีล สมาธิ และปัญญา นั้น หลวงพ่อชาท่านใช้คำว่า เหมือนยกมีดขึ้นมา เราไม่สามารถแยกส่วนสัน ส่วนคม และด้าม ออกจากกันได้ |
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 6 « on 13/2/2557 10:50:00 IP : 180.183.238.229 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๖)
ไม่รู้ธรรม จึงเที่ยวทุกข์ในสงสาร
ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อผู้ใดปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว จะทำให้จิตของผู้นั้นเป็นกลาง ไม่เอียงไปในทางรัก ไม่เอียงไปในทางชัง ไม่เอียงไปในทางเศร้าโศกเสียใจ ไม่เอียงไปในทางโกรธ ทางพยาบาท อย่างนี้นะจึงเรียกว่า ผู้ดำเนินตามทางสายกลาง ทางสายกลางนี่แหละ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ เพราะพระองค์ทำใจของพระองค์ให้เป็นกลางต่อธรรมสังขารทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง ศีลเป็นเครื่องกำจัดความโกรธ ความพยาบาทออกไป สมาธิเป็นเครื่องกำจัดความรัก ความชัง ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ จิตใจต่างๆ เหล่านี้ ความสงสัยลังเล เมื่อทำใจสงบอย่างนี้ กิเลสต่างๆ ก็ระงับลงไป แต่มันก็ไม่ขาดหรอก แต่มันสงบลงไป มันไม่มารบกวนจิตใจ
ปัญญาเป็นเครื่องขจัดความหลง ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ความจริงนี่เรียกว่าขจัดความหลง ความเข้าใจผิดคิดว่า ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นเหตุให้มีความสุขสบาย นี่เรียกว่าเป็นความเห็นผิด หรือเห็นผิดหยั่งดิ่งลงไปกว่านั้น ก็เห็นผิดว่า ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป ผลแห่งบุญแห่งบาปไม่มี ทำก็สักแต่ว่าทำไปอย่างนั่นแหละ ไม่มีผลอะไรตอบสนอง นี่คือความเห็นผิดอย่างดิ่งเลย
อันนี้ ความเห็นผิดอย่างนี้นะ มันจะระงับได้เพราะอาศัยปัญญา อบรมปัญญาให้เกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมเห็นเหตุ เห็นผลของชีวิต เห็นกรรม เห็นผลของกรรมได้ เห็นว่าทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 7 « on 16/2/2557 16:16:00 IP : 180.183.20.67 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๗)
เกิดมาสร้างบุญบารมี
ผู้ที่เคยมีสติสัมปชัญญะ เคยมีศรัทธาตั้งมั่นในกุศลตั้งแต่ชาติก่อนโน้น พอเกิดมาชาตินี้ บุญเก่านั่นแหละมันมาเตือนใจให้ระลึกได้ ให้ระลึกว่า เราเกิดมานี่ เราเกิดมาเพื่อสร้างบุญบารมีนะ บุญบารมีที่เราทำมายังไม่เต็ม ยังน้อยอยู่ จำเป็นที่เราจะต้องสร้างบุญบารมีให้มากที่สุดในชีวิตของเรา แล้วขณะเดียวกัน สิ่งใดเป็นบาปเป็นโทษ เราจะพยายามละเว้นให้มันขาดไปเลย จะไม่สะสมมันไว้ ขึ้นชื่อว่า บาป เพราะมันก่อให้เกิดทุกข์
ครั้นผู้ใดมาระลึกถึงตัวเองได้อย่างนี้ล่ะ นับว่าโชคดีเหลือเกินนะ นับว่าเป็นคนมีมงคลอยู่ในตนมากมายทีเดียวแหละ เพราะว่าผู้นั้นจะได้พยายามสั่งสมบุญกุศลมากขึ้นในตนของตนในเวลาที่มีชีวิตเป็นอยู่นี่ เพราะว่าชีวิตของคนเราในยุคนี้สมัยนี้ มันน้อยเหลือเกินนะ ถ้าใครไม่รีบเร่งทำความดี รีบเร่งละความชั่วแล้ว ก็จะไม่ได้ทำเลย ไปๆ มาๆ เมื่อความตายมาถึงแล้วก็แล้วเลย บางคนก็ลืมตัวว่าตัวเองเกิดมาสร้างบุญบารมี นึกไม่ได้ ก็เลยเมาไปกับโลกนี้อยู่ส่วนเดียว ดังที่เราเห็นกันอยู่นะ บางคนไม่ได้สนใจในการบุญการกุศลอะไรเลย ไม่สนใจในการที่จะละความชั่ว ทำความดีอะไร ก็อยู่ไปกินไปตามยถากรรมอย่างนั้น มีอยู่ถมไปนะ
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
สิทธิ์ |
Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552
|
|
ความคิดเห็นที่ 8 « on 17/2/2557 21:05:00 IP : 111.84.2.191 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
"...ก็อยู่ไปกินไปตามยถากรรม"
คำนี้ชวนให้สะเทือนใจครับ |
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 9 « on 30/3/2557 15:32:00 IP : 180.183.23.98 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๘)
ผู้ใดสำรวมจิต ย่อมเห็นแจ้งในกาย
การสำรวมใจมันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เห็นทุกข์เห็นภัยในสงสาร แล้วเบื่อความทุกข์ไม่อยากเสวยทุกข์อยู่ในวัฏสงสารนี้ ก็ให้สำรวมใจไม่ให้ไปเกาะไปข้อง มันถึงจะพ้นจากวัฏสงสารอันนี้ไปได้ ถ้าไม่ฝึกสำรวมใจ ปล่อยใจให้มันไปเที่ยวเกาะเที่ยวข้องอยู่ทั่วไปแล้วก็ไปไหนไม่ได้ ตายแล้วจิตก็วนเวียนอยู่ในโลกอันนี้แหละ หนีจากโลกอันนี้ไปไม่ได้เลย เว้นแต่ผู้มีบาปกรรมหนัก อันนั้นจะอยู่ในโลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ บาปกรรมมันฉุดคร่าไปอยู่ในนรกอบายภูมิโน่น
ผู้ที่มีจิตวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ของเรานี่ เป็นเพียงแค่ว่า จิตใจมันไปผูกพันอยู่ภายนอก มันไม่สำรวมเข้าไว้ภายใน เท่านั้นแหละ เป็นเหตุให้จิตวิญญาณอันนี้ล่องลอยอยู่ในโลกอันนี้ จะไปเกิดกับคนก็ไม่ได้ เพราะมีบุญน้อย เอาไปเอามาก็ไปเกิดกับสัตว์เดียรัจฉานนั่นแหละ อันหมู่นี้ต้องพิจารณาให้มันเห็น ถ้าไม่พิจารณาให้เห็นเหตุผลเหล่านี้แล้ว มันจะไม่สำรวมใจ มันจะปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอำนาจแห่งความอยาก ความปรารถนา
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕) |
|
|
|
|
คนแอบอ่าน |
Posts: 3 topics
Joined: 21/7/2555
|
|
ความคิดเห็นที่ 10 « on 1/4/2557 19:32:00 IP : 180.183.71.220 » |
|
Re: ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ |
|
|
|
๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ .....หลวงปู่พาดำเนิน(๙)
พิจารณาให้เห็นแจ้งในกาย
บุคคลที่จะรู้แจ้งในกายนี้ได้ ก็จักต้องรวบรวมความคิดความนึกทั้งหลาย ให้มายุติในจิตนี้ก่อน ให้จิตมันสงบนิ่งอยู่ภายใน จิตนี้เมื่อกิเลสไม่ห่อหุ้มแล้ว มันก็ผ่องใสขึ้น ที่มัวหมองก็เพราะกิเลสมันหุ้มห่ออยู่ กิเลสที่หุ้มห่อจิตไม่ให้ตั้งมั่นลงได้นั้นก็คือ ความรัก ความชัง ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความสงสัยลังเลในเรื่องบาปบุญคุณโทษต่างๆ กิเลสเหล่านี้แหละครอบงำจิตใจของผู้ใดแล้ว ใจของผู้นั้นย่อมสงบนิ่งอยู่ไมได้ ถ้าไม่คิดฟุ้งซ่านไปทางอื่น มันก็ง่วงหลับไปเสียไม่รู้ตัว ตนนั่งอยู่ก็หลับ นั่งฝันไป อย่างนี้ก็เป็นเครื่องตัดทอนปัญญาไม่ให้เกิดขึ้น
ดังนั้น พึงให้พากันรู้จักศัตรูของสมาธิ เมื่อรู้แล้วก็กำหนดละ ถ้าหากว่ากิเลสในตัวมันเกิดขึ้นเราก็รู้ เราเพ่งเข้าไปภายใน เช่น ความรักเกิดขึ้นในใจก็รู้ ความชังเกิดขึ้นก็รู้ ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นก็รู้ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิดขึ้นก็รู้ ความสงสัยลังเลในเรื่องบาปบุญคุณโทษเกิดขึ้นในใจก็รู้ เมื่อเรารู้ว่านิวรณ์ข้อไหนมันเกิดขึ้นในจิตขณะนี้ เราก็เพ่งละนิวรณ์ประเภทนั้นเสีย อย่าให้มันครอบงำจิตได้ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาอันประเสริฐนี้แล้ว ได้ฟังอุบายวิธีละกิเลสนี้แล้ว ก็อย่าไปนิ่งเฉย ต้องพยายามเจริญกรรมฐานนั้นๆ ระงับกิเลสเหล่านี้ให้หมดจากใจไป
(จากหนังสือ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕) |
|
|
|
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ » คลิ๊กที่นี่ |
|
|