luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   ประวัติย่อ หลวงปู่ดู่ (ปรับปรุงใหม่)  (Read: 32086 times - Reply: 19 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ประวัติย่อ หลวงปู่ดู่ (ปรับปรุงใหม่)
« Thread Started on 26/3/2553 7:24:00 IP : 124.122.50.129 »
 

 เนื่องจากมีผู้แจ้งความประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือไตรรัตน์ กลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำ (คณะเดียวกันกับที่ดูแล Website นี้) จึงได้ปรับปรุงประวัติย่อของหลวงปู่ดู่ โดยเป็นการต่อยอดจากหัวข้อ "รู้จักหลวงปู่ใน ๕ นาที" โดยยึดหลักความกระชับแต่พยายามให้ครอบคลุมความเป็นหลวงปู่ให้มากที่สุด

เพื่อไม่ให้เสียโอกาส นอกจากที่ปรากฏในหนังสือไตรรัตน์ (๑) ฉบับจัดพิมพ์เดือนเมษายน ๒๕๕๓ จึงขอนำมาเผยแพร่ที่นี้ด้วยเลย

 

 "หลวงปู่ดู่ พระผู้จุดประทีปในดวงใจ"

หลวงปู่ท่านมีชื่อทางโลกว่า “ดู่” มีฉายาทางพระว่า “พรหมปัญโญ“  ท่านเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด เมื่ออุปสมบทแล้ว แทบจะตลอดชีวิตของท่าน ท่านจำพรรษาอยู่แต่ที่วัดสะแก อยุธยา กระทั่งมรณภาพ  ท่านมีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๕๓๓ มรณภาพเมื่ออายุย่างเข้า ๘๖ ปี ซึ่งพระเถระที่ร่วมสมัยกับท่านก็ได้แก่ลูกศิษย์ชั้นต้นของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่สิม พุทธาจาโร เป็นต้น

หลวงปู่มีรูปร่างค่อนข้างสูงใหญ่อย่างคนไทยโบราณ และเป็นพระภิกษุชราที่มีผิวพรรณผุดผ่องมาก ท่านมีปรกติแจ่มใสและมีอารมณ์ขัน รวมทั้งมีปฏิสันถารและเมตตาต่อผู้ที่ไปนมัสการท่านเสมอหน้ากันหมด  

หลวงปู่เป็นแบบอย่างของผู้มีขันติอย่างยิ่งยวด ท่านนั่งบนไม้กระดานแข็ง ๆ สงเคราะห์และสอนธรรมญาติโยมทุกวันตั้งแต่เช้ากระทั่งค่ำมืดดึกดื่นโดยไม่เคยปริปากบ่น นอกจากนี้ท่านเป็นภิกษุที่มักน้อยสันโดษในปัจจัย ๔ และไม่นิยมงานก่อสร้างใด ๆ ปัจจัยที่คนทำบุญกับท่าน ท่านให้ลูกศิษย์รวบรวมส่งเข้าเป็นกองกลางของวัดทุกวัน

เพื่อที่จะสงเคราะห์ญาติโยมที่มานมัสการหลวงปู่ที่วัดสะแกไม่ให้ต้องผิดหวังว่าจะไม่ได้พบท่าน หลวงปู่จึงมีนโยบายไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัดเลย

หลวงปู่เมตตาอธิษฐานจิตในพระเครื่องให้แบบว่าไม่เหมือนใคร เพราะท่านทำเอาไว้สำหรับให้กำไว้ในมือขณะนั่งสมาธิ เพื่อช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น ท่านให้เหตุผลของการอธิษฐานพระว่า “ดีกว่าสวดมนต์ทิ้งเปล่า ๆ”  

หลวงปู่สอนเน้นหนักในการปฏิบัติตามแบบของพระพุทธเจ้าคือหลักแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ท่านไม่เคยพูดถึงแนวทางการปฏิบัติแหวกแนวอะไรในทำนองทางลัดตรง หรือธรรมะนอกพระไตรปิฎก เพราะท่านสอนให้กตัญญูและซื่อตรงต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

หลวงปู่บอกว่าท่านเป็นพระบ้านนอก เทศน์ไม่เป็น ดังนั้น จึงไม่มีกัณฑ์เทศน์คำสอนยาว ๆ  มีแต่ข้อคิดคติธรรมสั้น ๆ ของท่านที่สื่อด้วยภาษาชาวบ้านซึ่งเข้าใจง่าย ๆ

หลวงปู่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และระมัดระวังในเรื่องการอวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ว่าจะเป็นการรู้การเห็นภายใน หรือการรู้วาระจิต  ภูมิจิตภูมิธรรมเหล่านี้ของท่าน ลูกศิษย์ต้องรู้จักสังเกตเอง นอกจากนี้ท่านยังเน้นการสอนด้วยการทำให้ดู ควบคู่กับคำพูดที่ให้คติแง่คิดทางธรรม

หลวงปู่สอนให้ปฏิบัติเพื่อให้มีตัวเองเป็นที่พึ่ง ท่านไม่ให้ติดยึดในตัวครูอาจารย์หรือตัวท่าน  ในทางตรงกันข้าม ท่านก็แสดงให้เห็นว่าแม้ตัวท่านก็ไม่ยึดติดในตัวศิษย์ด้วยเช่นกัน กล่าวคือท่านพร้อมจะว่ากล่าวตักเตือนหนัก ๆ หากศิษย์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เพราะนั่นคือการทำหน้าที่ชี้ขุมทรัพย์ให้แก่ลูกศิษย์ ท่านสอนให้ศิษย์ยึดหรืออาศัยสิ่งที่ท่านเรียกว่ารากแก้วของพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จนกว่าเราจะปฏิบัติจนได้ตนเป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง  

หลวงปู่ไม่ส่งเสริมเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เพราะท่านเน้นการสร้างคนให้มีคุณธรรม มีหลักปฏิบัติหรือ “เครื่องอยู่” ที่จะเอาเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และเน้นให้วัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติของตนเองด้วยการสำรวจโลภ โกรธ หลง ในจิตใจที่ลดลง ๆ มิใช่การรู้การเห็นภายในหรือการมีญาณหยั่งรู้เรื่องลี้ลับอะไร

หลวงปู่สอนให้ศิษย์รู้จักกาลเทศะในการปฏิบัติธรรม ว่าควรปฏิบัติแค่ไหนอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ตน โดยไม่ให้เกิดทุกข์โทษหรือเกิดเป็นความแปลกแยกกับหมู่คณะหรือสถานปฏิบัติธรรมอื่นใด เช่นว่าเขาจะสวดมนต์หรือเดินจงกรมช้า-เร็วอย่างไร ก็ให้กลมกลืนไปได้กับหมู่  การวางใจหรือข้อวัตรภายในเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องเอาไปอวดใคร หรือทำตัวให้แปลกแยกกับหมู่คณะหรือสภาพแวดล้อมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาและหลีกเลี่ยงออกมาเสีย เช่น สำนักทรงต่าง ๆ เป็นต้น

หลวงปู่เน้นความกตัญญูต่อพ่อแม่  ท่านไม่ให้ขวนขวายกราบพระนอกบ้านจนลืมพระอรหันต์ในบ้าน คือพ่อแม่ของตนเอง 

หลวงปู่ไม่สรรเสริญการปฏิบัติชนิดไฟไหม้ฟาง กล่าวคือในยามขยันก็ปฏิบัติจนลืมเวลา แต่พอขี้เกียจขึ้นมาก็ทิ้งการปฏิบัติไปเสียเลย หลวงปู่จึงสรรเสริญผู้ที่ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ เพราะเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการปฏิบัติ มิใช่ปฏิบัติตามแฟชั่นนิยม

หลวงปู่ไม่ให้ลูกศิษย์ด่วนสรุปว่าตนรู้เข้าใจในธรรม ท่านว่าทุกอย่างมีหยาบ กลาง ละเอียด และในแต่ละขั้นก็มีหยาบ กลาง ละเอียด ของมันเป็นชั้นๆ ไปอีก สิ่งที่เข้าใจว่าถูกตอนนี้ เมื่อปฏิบัติได้ละเอียดเข้า มันก็อาจไม่ใช่อย่างที่รู้สึกและเข้าใจในตอนต้นก็ได้

คำสอนที่หลวงปู่พูดสอนบ่อยครั้ง คือ  “ของดีอยู่ที่ตัวเรา ของไม่ดีก็อยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” และ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย เน้อ (ให้พากันพิจารณา) รวมทั้ง “ภาวนาให้ได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน (ไม่มีเวลาเริ่ม เวลาเลิก)”

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: ประวัติย่อ หลวงปู่ดู่ (ปรับปรุงใหม่)
จำนวนข้อความทั้งหมด:  12
<
1
2
แสดงความคิดเห็น
supa

Posts: 2 topics
Joined: 17/5/2554

ความคิดเห็นที่ 11  « on 18/9/2555 8:31:00 IP : 180.183.202.235 »   
Re: ประวัติย่อ หลวงปู่ดู่ (ปรับปรุงใหม่)
 
สิทธิ์ Talk:
...ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ท่านบันทึกความประทับใจที่มีต่อหลวงปู่ดู่ไว้ในหนังสือ "แต้มบันทึกธรรม คำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์"

(คำว่าแต้มหมายความว่าอะไรต้องอาศัยคนเหนือช่วยขยายความสักหน่อยครับ)

  



"แต้ม" น่าจะแปลว่า หมายไว้ จดจาร ทำเครื่องหมายไว้ค่ะ (mark)

คงมีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า "แต้มแต่ง"

หากผิดพลาดขออภัยค่ะ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ปุถุชน

Posts: 1 topics
Joined: 8/5/2556

ความคิดเห็นที่ 12  « on 10/7/2556 16:13:00 IP : 101.109.237.33 »   
Re: ประวัติย่อ หลวงปู่ดู่ (ปรับปรุงใหม่)
 
สิทธิ์ Talk:
 บันทึกครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร (ถ้ำราชคฤห์ .งาว .ลำปาง) 

 ...กราบท่านด้วยความสนิทใจว่าเราพบแล้วพระอริยสงฆ์องค์จริง ท่านกล่าวว่า "ให้หมั่นเพียรภาวนาแล้วจะได้พุ้นทุกข์ในสงสาร อย่าประมาทในชีวิต ขอให้มีสติอยู่ตลอดทุกอิริยาบท แล้วจะถึงพระนิพพาน" ...

 



ขอบพระคุณพี่เหลิมครับผม

อ่านบันทึกครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ด้วยตื้นตันยิ่งช่างเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่เกิดขึ้นเมื่อได้อ่านบทความนี้

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

กราบนมัสการหลวงปู่ที่กล่าวยืนยัน "มิตรมีอุปการะมาก" ช่างเป็นอมตะวาจาแท้ ขอบพระคุณพี่เมธาที่เมตตาเผื่อแผ่แก่น้องใหม่ให้ได้ฟังและร่วมยินดียิ่งครับผม

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
<
1
2
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   สนทนาเรื่องราวหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 3 Visits: 16,705,830 Today: 202 PageView/Month: 8,778