luangpudu.com / luangpordu.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

หลวงปู่ท่านสอนเสมอว่า ไม่มีปาฏิหาริย์อันใดจะอัศจรรย์เท่ากับการฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตนให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือพระนิพพาน

คณะผู้จัดทำฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาเยือน Website แห่งนี้ จะได้รับความอิ่มเอิบใจและปีติกับเรื่องราวและธรรมะคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รวมทั้งเกิดศรัทธาและพลังใจในการขวนขวายปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ใจได้สัมผัสธรรม และมีธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป

(โปรดแลกเปลี่ยน/แสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นธรรมะคำสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านของดเว้นบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุมงคลที่เป็นไปในเชิงพาณิชย์หรือปาฏิหาริย์ที่มิได้วกเข้าหาธรรม)

   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  
Started by
Topic:   หมดยุคอภิญญา  (Read: 42530 times - Reply: 17 comments)   
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

หมดยุคอภิญญา
« Thread Started on 31/1/2553 8:03:00 IP : 124.121.128.239 »
 

มีเรื่องที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเถระผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นศิษย์ชั้นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น (เดิมท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แต่ภายหลังหลวงปู่ดูลย์พาท่านไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นโดยตรง) เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการแสดงอภิญญาของครูบาอาจารย์ว่า

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินธุดงค์ไปกับหลวงปู่มั่น และพระติดตามอีกรูปหนึ่ง เย็นวันนั้น ทั้ง ๓ ท่าน เดินทางไปถึงหนองน้ำใหญ่ และปรารถนาจะข้ามไปพักที่อีกฟากหนึ่ง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะข้ามไปได้อย่างไร อีกทั้งก็มองไม่เห็นชาวบ้านในละแวกนั้นเลย ส่วนว่าจะเดินอ้อมไปก็คงไกลมาก จะไม่ทันค่ำมืด

ในระหว่างนั้น หลวงปู่มั่นได้ปลีกตัวไปทางด้านอื่น สักครู่ก็ปรากฏว่ามีคนแก่คนหนึ่งพายเรือมาหา นิมนต์ให้หลวงปู่ฝั้นและพระอีกรูปขึ้นเรือ เพื่อพาไปส่งยังอีกฟากหนึ่ง หลวงปู่ฝั้นและพระอีกรูปพยายามตามหาหลวงปู่มั่น แต่ก็ไม่พบ ประกอบเรือนั้นเป็นลำเล็ก ๆ คงนั่งไปไม่หมดในคราวเดียว ท่านจึงข้ามกันไปก่อน แต่พอข้ามไปอีกฟากหนึ่งได้แล้ว ตาแก่คนนั้นก็พายเรือหายไป

หลวงปู่ฝั้นและพระอีกรูปต้องแปลกใจที่เห็นหลวงปู่มั่นอยู่ริมฝั่ง กำลังบิดผ้าอาบน้ำฝนที่เปียกน้ำ (นัยว่าหลวงปู่มั่นอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝนเป็นเรือไปรับพระลูกศิษย์)

หลวงปู่ฝั้นเล่าเรื่องนี้ให้พระลูกศิษย์ฟังพร้อมกับพูดว่า หลวงปู่มั่นท่านมีฤทธิ์มาก แต่เรื่องอภิญญานั้น ต่อไปก็จะไม่มีแล้ว เพราะแม้แต่ธุดงค์กรรมฐาน มันก็จะไม่มีแล้ว พวกท่านคือพระกรรมฐานยุคสุดท้าย

หากเราพิจารณาให้ดีก็จะเห็นจริงตามท่าน เพราะแนวโน้มของโลกมันเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติธรรมในยุคหลังมีแนวโน้มหรือปฏิปทาในทางอาศัยสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลย บาทฐานของภูมิสมาธิที่มากพอทั้งรูปฌานและอรูปฌาน (หรือที่เรียกว่าสมาบัติ) ซึ่งเป็นฐานของการจะได้อภิญญามันจึงไม่พอ (อาจไม่พอต่ออภิญญา แต่อาจเพียงพอต่อการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีฤทธิ์อภิญญา)

การจะมีครูบาอาจารย์ที่มีนิสัยปัจจัยทางด้านนี้จักหาได้ยากหรือหาไม่ได้อีกแล้ว หรือหากจะมีก็จะมีแบบประปรายเต็มที มิได้มีมากองค์เหมือนอย่างอดีตอีกต่อไป เพราะยุคสุดท้ายก่อนศาสนาพุทธจะหายไปจากโลก พระอรหันต์ที่มีมากคือพระอรหันต์จำพวกสุกขวิปัสสโก (ปัญญามากส่วน แต่สมาธิน้อยส่วน)

  

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
  ความคิดเห็นเกี่ยวกับ: หมดยุคอภิญญา
จำนวนข้อความทั้งหมด:  14
1
2
>
แสดงความคิดเห็น
Aimee2500

Posts: 44 topics
Joined: 14/12/2552

ความคิดเห็นที่ 1  « on 1/2/2553 4:53:00 IP : 86.181.86.227 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 

อนุโมทนาสาธุค่ะ

อภิญญา = ความรู้อย่างสูง, ความรู้ยิ่งในพระพุทธศาสนามี ๖ อย่าง คือ ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ ๕. ทิพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป (เหมือน อภิญญาณ)

อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง รู้พิเศษ ซึ่งมีความหมายในที่นี้ว่า เป็นญาณที่ประกอบด้วยรูปาวจรปัญจมฌาน สามารถให้เกิดความรู้อันยิ่งใหญ่ เกิดความรู้พิเศษ ถึงกับบันดาลให้เกิดสิ่งที่ตนปรารถนาได้

อภิญญา มี ๒ ประเภท คือ
โลกุตตรอภิญญา และ โลกียอภิญญา

โลกุตตรอภิญญา มีอย่างเดียว คือ อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลส อาสวะ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตมัคคจิตโดยเฉพาะเท่านั้น เป็นอภิญญาที่ไม่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท
ส่วน

โลกียอภิญญา เป็นอภิญญาที่ ต้องอาศัย โลกียจิตคือ รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท มี ๕ อย่าง มีชื่อว่า อิทธิวิธะ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ และมีรายละเอียดแต่ละอย่าง คือ

๑. อิทธิวิธอภิญญา หรือ อิทธิวิธญาณ เป็นความรู้ที่แสดงฤทธิได้ (ฤทธิ=ความสำเร็จ) ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๑๐ คือ

(๑) อธิฏฐานอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากการอธิฏฐาน การตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้า เช่น คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคน ตัวอย่าง พระจุฬปัณถกเถระเจ้า อธิฏฐานให้เป็นพระหลายรูปจนเต็มไปทั้งวัด
(๒) วิกัพพนอิทธิ ความสำเร็จด้วยการจำแลงกายให้เป็นคนแก่ ให้เป็นเด็ก ให้เป็นเสือ เป็นช้าง เช่น พระโมคคัลลาน์ แปลงกายเข้าไปทางปากไปเดินอยู่ในท้องของ นันโทปนันทพยานาค แม้พยานาคนั้นจะมีฤทธิและมีพิษมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้
(๓) มโนมยอิทธิ ความสำเร็จด้วยอำนาจกำลังใจที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เช่น พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้พระสรีระใหญ่โตมาก เป็นการสำแดงให้อสุรินทรยักษ์ผู้ตำหนิพระองค์ว่าทรงมีรูปร่างเล็ก เพราะเป็นมนุษย์นั้นได้เห็น ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำได้ดังนี้ ก็เพราะทรงมีอิทธิทางมโนสูงยิ่ง

อิทธิทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นอิทธิวิธญาณโดยตรง อันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจแห่งอภิญญา ที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

(๔) ญาณวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น พวกโจรจับสามเณรสังกิจจะไป เพื่อจะฆ่าทำเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่โจรจะฆ่า สังกิจจะสามเณรได้เข้านิโรธสมาบัติ โจรจึงฆ่าไม่ตาย ทั้งไม่เป็นอันตรายอย่างใด ๆ ด้วย พวกโจรเลยยอมเป็นศิษย์
(๕) สมาธิวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ เช่น นันท ยักษ์ตีพระสารีบุตรด้วยกระบองเพ็ชร แต่พระสารีบุตรไม่เป็นอันตราย แม้แต่จะรู้สึกเจ็บก็ไม่มี ส่วนนันทยักษ์เมื่อตีแล้วก็ถูกธรณีสูบไปเลย
(๖) อริยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความไม่หวั่นไหวต่อกิเลส เช่น พระอริย บุคคลที่สามารถวางเฉยต่ออิฏฐารมณ์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและอนิฏฐารมณ์ อารมณ์อันไม่เป็นที่ชอบใจ
(๗) กัมมชอิทธิ บ้างก็เรียกว่า กัมมวิปากชอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากกรรม เช่น เทวดาวินิปาติกบางพวก และนก ไปมาในอากาศได้โดยไม่ต้องมีฌานมีอภิญญา เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปฏิสนธิ
(๘) บุญญวโตอิทธิ บ้างก็เรียกว่า บุญญอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากบุญของเขา เช่นการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปวัตติ
(๙) วิชชามยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยวิชา มีคาถาอาคมต่าง ๆ ตลอดจนมีเข้าเจ้าทรง
(๑๐) ตัตถตัตถสมาปโยคปัจจยอิทธิ บ้างก็เรียกว่า อิชฌนัฏเฐนอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความพากเพียรอย่างจริงจัง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการ กระทำ เช่น พากเพียรเจริญสมถภาวนา ก็สำเร็จถึงฌาน เมื่อถึงฌานแล้วก็ให้สำเร็จไปเกิดเป็นพรหม

ได้กล่าวแล้วว่า อิทธิข้อ (๑) ถึงข้อ (๓) รวม ๓ ข้อ เป็น อิทธิวิธญาณโดยตรง คือ เป็นอิทธิฤทธิที่เกิดขึ้นเพราะอภิญญา เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ส่วนอิทธิ ข้อ (๔) ถึงข้อ (๑๐) รวม ๗ ข้อนั้น สำเร็จด้วยการกระทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฌาน ไม่ใช่อภิญญา ไม่ใช่อิทธิวิธญาณอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอภิญญาที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็น บาท แต่ที่นำมากล่าวไว้ด้วยก็เพื่อจะได้ทราบครบจำนวนของอิทธิฤทธิ์

" สาระสำคัญว่า แม้จะมีฤทธิ์มากมาย แต่ก็ไม่อาจรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถแก้ข้อสงสัยในใจของตนได้ ในที่สุดก็ต้องอาศัยอนุศาสนีปาฏิหาริย์จึงได้ปัญญารู้ความจริง "

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 2  « on 1/2/2553 8:25:00 IP : 203.148.162.128 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 

คุณเอมี่ก็เล่นยกอภิธรรมมาเฉลยเสียยาวเชียว ฝั่งอภิธรรมเขายิ่งรังเกียจคำว่าสมถกรรมฐาน และคำว่าอภิญญาเสียด้วย

มนุษย์เรามักมีแนวโน้มที่จะตกลงในฝั่งสุดโต่งอยู่แล้ว เช่นในกรณีนี้ ถ้าไม่จมจ่อมลุ่มหลงกับอภิญญา (หมายถึงอภิญญา ๕ ข้อแรก ที่ยังไม่นับรวมข้อสุดท้ายที่เป็นเรื่องของการหมดกิเลส) ก็จะรังเกียจไปเลย ...มันเป็นความจริงอย่างนั้น

อภิญญา ๕ จะเกิดได้กับคนที่ยังมีกิเลส แต่อภิญญา ๖ จะเกิดกับพระอรหันต์เท่านั้น

เหมือนอย่างพระเทวทัต ที่ยังเข้าไม่ถึงอภิญญาตัวสุดท้าย เลยถูกกิเลสขี้หัวให้ไปหลอกแสดงฤทธิ์เพราะหวังลาภสักการะและความยิ่งใหญ่

ที่เขียนไปเพื่อจะสื่อว่าเป้าหมายของนักปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตสงบตั้งมั่น และการพัฒนาปัญญาที่พาเราพ้นทุกข์ได้ มิใช่ฤทธิ์อภิญญาที่มันเป็นดาบสองคม 

หลวงปู่ดู่เคยสอนไว้แล้วว่า ให้ตั้งความปราถนาให้สูง (ความปรารถนาเอาความพ้นทุกข์) แล้วสิ่งต่าง ๆ หากจะมีมันก็จะมีมาเอง ด้วยการสั่งสมหรือบำเพ็ญมา 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 3  « on 2/2/2553 7:18:00 IP : 203.148.162.128 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 

การสั่งสมหรือบำเพ็ญมาที่จะเป็นเหตุแห่งอภิญญาก็คือสมาธิสัมปทา คือเคยทำสมาธิมามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำกสิณ

รวมทั้งอาจมีปัจจัยอื่นประกอบเช่นได้ถวายทานอันยิ่งกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานอ้างผลบุญนั้นให้ได้ถึงพร้อมด้วยอภิญญา

เจตนาว่าจะไม่ให้ข้องกับเรื่องเหล่านี้ ก็เลยชักเริ่มบานปานขยายความออกไป เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องอจินไตย คือเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ส่งเสริมให้เอาไปขบคิด เพราะเสียเวลามาก ไม่เกิดประโยชน์ และยากจะเข้าใจหรือใช้หลักตรรกะให้เข้าใจได้  สิ่งที่พูดคุยกันก็แค่สัญญาความจำจากตำรับตำราและคำครูบาอาจารย์เท่านั้นครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
ไก่ในสุ่ม

Posts: 2 topics
Joined: 6/11/2552

ความคิดเห็นที่ 4  « on 2/2/2553 9:21:00 IP : 58.137.188.182 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 
ขอบพระคุณครับ
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
Dugong

Posts: 1 topics
Joined: 11/2/2553

ความคิดเห็นที่ 5  « on 11/2/2553 21:36:00 IP : 125.25.99.30 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 

เรื่องอภิญญา เป็นวาสนาบารมีตามเหตุปัจจัยของแต่ละท่าน เป็นเรื่องทีมีมาก่อนพุทธศาสนา คนนอกศาสนาพุทธที่มีนิสัยวาสนามีของเก่าทางนี้ก็มีอภิญญาได้ เรื่องที่ว่ายุคนี้จะหมดสมัย ผู้มีอภิญญา แล้ว เพราะเหตุการปฏิบัติปัจจุบัน ไปทางสมาธินิดหน่อย เจริญปัญญาเลยนั้น  ผมยังไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เท่าที่เคยได้ศึกษามาและได้เรียนถามจากผู้รู้บางท่าน ต่อให้คนที่เจริญปัญญาก่อนสมาธิ ถ้ามีนิสัยทางอภิญญา ก็จะมีอภิญญาได้  ในทางกลับกัน บางท่านแม้ทำสมาธิได้รูปฌาณ อรูปฌาน ก็มิใช่ว่าจะมีอภิญญาเสมอไป 

พระอานนท์ ตอนที่ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก ได้อริยโสดาบัน ท่านก็ยังไม่มีอภิญญา ต่อเมื่อท่านบรรลุอรหัตแล้ว อภิญญาก็มาพร้อมอรหัตผล  หรือพระจุลปัณถก ตอนเป็นปุถุชน อย่าว่าแต่ฤทธิ์เลย เพียงท่องจำ บทธรรมอะไรก็ยังจำไม่ได้  ต่อเมื่อบรรลุอรหัต อภิญญาก็มาพร้อมมรรคผลเหมือนกัน

 บางคนอยากได้อภิญญา เลยมุ่งทำสมาธิ ไม่เจริญปัญญา ด้วยเหตุผลลึกๆ ว่า หากมีปัญญามาก บรรลุธรรมไปก่อน จะอดมีอภิญญา ผมว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด 

 คนจำนวนมากอยากได้อภิญญามากกว่าอยากได้ปัญญา โดยไม่ทราบว่า อภืญญา หากเกิดกับปุถุขนผู้ไม่มีปัญญา จะเป็นโทษมากเพียงใด คนที่หลงแนวทางปฏิบัติจำนวนมากในยุคนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องมุ่ง อิทธิปาฏิหารย์ อาเทศนาปาฏิหารย์ มากกว่าอนุสาสนีปาฏิหารย์มิใช่หรือ  แต่มิได้หมายความว่า ปาฏิหารย์ 2 ข้อแรกไม่ดี  เพราะธรรม 2 ข้อแรกดีหรือไม่ดีขึ้นกับว่าธรรมทั้ง 2 เกิดกับผู้มีปัญญาหรือผู้ไม่มีปัญญาต่างหาก 

เรื่องสมัยนี้จะหมดยุคอภิญญาหรือไม่ก็คงเป็นไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า แนวการสอนที่ให้ทำสมาธิเล็กน้อยแล้วเจริญปัญญาเลยแน่นอน ดังตัวอย่างที่ยกมา  เป็นอีกความเห็นหนึ่งที่มองต่างมุม ต้องขออภัยที่อาจกระทบกระเทือนบางท่านครับ

 

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
สิทธิ์

Posts: 591 topics
Joined: 5/11/2552

ความคิดเห็นที่ 6  « on 12/2/2553 7:40:00 IP : 203.148.162.128 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 

ยินดีรับฟังแม้ทัศนะต่างกันครับ ขอเพียงเป็นไปโดยพื้นฐานแห่งไมตรีจิตต่อกัน

เหตุผลที่ยกมาก็น่ารับฟัง โดยส่วนตัว คำว่าหมด "ยุค" แปลว่ากำลังพูดถึงคนส่วนมาก (การมีประปรายในหมู่นักปฏิบัติไม่ถือเป็นส่วนมาก) เหมือนอย่างที่มีกล่าวไว้ว่าพระอรหันต์ที่จะค่อย ๆ หายไปก่อนคือประเภทปฏิสัมภิทาญาณ (ถึงพร้อมด้วยความสามารถพิเศษที่ช่วยในการแสดงธรรมด้วย) จากนั้นจำพวกอภิญญาหกก็จะค่อยหายไป จากนั้นก็วิชชาสามหายไป กระทั่งพระอรหันต์จำพวกสุกขวิปัสสโก (พระอรหันต์ที่ไม่มีฤทธิ์) จะเป็นยุคสุดท้ายก่อนศาสนาพุทธจะค่อย ๆ เลือนหายไป ซึ่งมันก็เป็นธรรมดาอีกเหมือนกันกระทั่งสัญลักษณ์ของพระเหลือเพียงแค่การมีเศษจีวรติดที่ใบหู

เรื่องหมดยุคอภิญญาหรือไม่หมด ไม่สำคัญเท่ากับเจตนาที่ต้องการสื่อเรื่องนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ

๑. ให้ทราบปฏิปทาหลวงปู่ที่มุ่งธรรม มิใช่เรื่องฤทธิ์อภิญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยงเรื่องฤทธิ์อภิญญาไปหาองค์หลวงปู่ (เพื่อแก้ข้อสงสัยตัวเองว่าท่านอาจพูดเน้นเรื่องนี้ในลูกศิษย์บางกลุ่ม โดยได้สอบถามลูกศิษย์ตั้งแต่ยุคก่อน ๒๕๐๐ มาถึงปัจจุบันจำนวนมากที่ใกล้ชิดท่าน ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำหนังสือเผยแพร่คำสอนของท่าน ก็ไม่พบที่อ้างอิงได้)

๒. ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ไม่ส่งเสริมในเรื่องฤทธิ์อภิญญา มิเช่นนั้นพระองค์คงไม่ทรงบัญญัติว่าพระรูปใดแสดงเข้าแล้วจะเป็นอาบัติ

อยากบอกว่าส่วนตัวก็ชอบนะครับ เรื่องฤทธิ์อภิญญานี่ ยิ่งเวลาหลวงปู่เล่าเรื่องพระโมคคัลานะเหาะไปนับเม็ดฝนนี่ หูผึ่งทีเดียวล่ะ แต่หลวงปู่ท่านเล่าก็เพื่อเจริญศรัทธาในพระศาสนา มิใช่เล่าเพื่อให้เรามุ่งปฏิบัติเพื่อจะเอาฤทธิ์ หรือเมาเรื่องฤทธิ์แต่อย่างใดครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณ Dugong ว่าอภิญญาจะถูกใช้อย่างถูกธรรมก็โดยผู้มีปัญญาแล้วเท่านั้น ไม่อย่างนั้นผมก็ว่าเป็นดาบสองคมที่อันตรายทีเดียว ที่ล่อแหลมที่การพาให้หลงตัวอย่างหนึ่ง เสียเวลากับเรื่องเหล่านี้มากกว่าที่จะไปเสียเวลาในการปฏิบัติที่ตรงต่อมรรคผล เพราะอายุคนเรานั้นสั้นนักนี้อีกอย่างหนึ่ง

คมที่อันตรายของเรื่องฤทธิ์อภิญญานั้น อย่าว่าแต่ฆราวาสเลย แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่เว้นครับ มีตัวอย่างให้พิจารณาคือพระเทวทัตท่านได้อภิญญา เหาะได้ทั้งกายเนื้อ แต่สุดท้ายก็เหาะไม่พ้นนรก

หวังว่าจะทราบถึงเจตนาในเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้นนะครับ และรู้สึกยินดีที่คุณ Dugong ร่วมแสดงทัศนะที่น่าพิจารณาเป็นการแลกเปลี่ยนกันครับ

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
Dugong

Posts: 1 topics
Joined: 11/2/2553

ความคิดเห็นที่ 7  « on 13/2/2553 10:38:00 IP : 125.25.109.214 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 
ขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกหน่อยนะครับ ด้วยเจตนาสร้างสรรค์ ไม่ได้ต้องการจะจับผิดหรือกวนป่วนแต่อย่างใด เพียงมีวัตถุประสงค์ให้ชวนกันคิดเท่านั้น จากคำที่ว่า"เพราะแนวโน้มของโลกมันเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติธรรมในยุคหลังมีแนวโน้มหรือปฏิปทาในทางอาศัยสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลย บาทฐานของภูมิสมาธิที่มากพอทั้งรูปฌานและอรูปฌาน (หรือที่เรียกว่าสมาบัติ) ซึ่งเป็นฐานของการจะได้อภิญญามันจึงไม่พอ (อาจไม่พอต่ออภิญญา แต่อาจเพียงพอต่อการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีฤทธิ์อภิญญา)" 

ผมอ่านข้อความนี้ สะดุดในความคิดอยู่2-3 ประเด็นก็เลยแสดงความเห็นไปแบบปัจจุบันทันด่วน ในครั้งก่อน ยังไม่ทันได้เรียบเรียงความคิดนัก เลยขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้

 

1. ความเห็นข้างบนนี้ อาจทำให้คนเข้าใจไปได้ว่า เพราะการปฏิบัติแบบสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลย  ทำให้คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ไม่มีอภิญญา ซึ่งผมพยายามยกตัวอย่างเพื่อสรุปความเห็นตนเองให้ฟังว่า ไม่น่าจะใช่

เพราะใครจะมีอภิญญาหรือไม่ในปัจจุบัน มีเหตุย้อนหลังยาวนาน คือท่านผู้นั้นเป็นผู้มีเหตุปัจจัยนิสัยวาสนาทางอภิญญา ไม่สามารถมองหรือใช้เหตุผลเพียงปัจจุบันชาติ  คำกล่าวทำนองว่า "เพราะการสอนสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลยในยุคปัจจุบันนี้ ทำให้นักภาวนาส่วนใหญ่ในยุคนี้ไม่มีอภิญญา" จึงยังไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอ

 

2. ผู้อ่านบางท่านที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวอาจเข้าใจว่า ปัญญาเป็นอุปสรรคของอภิญญา บางคนที่คิดลึกอีกหน่อยอาจมองว่า  ความเห็นตามข้อความข้างต้น เป็นความเห็นในเชิงดูแคลน การปฏิบัติแบบเจริญปัญญาทั้งที่สมาธิแค่นิดหน่อย ที่ได้อย่างมากก็ได้แค่ความหลุดพ้นอย่างแห้ง  

-ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าสอนคนส่วนใหญ่อย่างไร สอนให้ทำสมาธิจนได้อภิญญาก่อนแล้วค่อยใช้ปัญญา หรือ สอนให้ใช้ปัญญาได้เลย สำหรับคนที่มีความตั้งใจที่จะคิดจะพิจารณาตามสิ่งที่พระองค์สอนอยุ่แล้ว?

- ถ้าต้องทำสมาธิก่อน ถึงควรต่อปัญญา  ถามว่าให้ทำสมาธิระดับไหน จึงควรจะใช้ปัญญาได้ ควรรอให้เกิดอภิญญาก่อนหรือถึงฌานก่อนแล้วจึงค่อยฝึกปัญญาหรือไม่ และหากทำสมาธิได้เช่นว่าจริงๆ เอาปัญญาที่ไหนมาต่อ ถ้าไม่เคยเตรียมปัญญาเอาไว้ ? สมาธิระดับไหนถึงต่อปัญญาได้? ปํญญามีกี่ระดับ มีความร้อยเรียงสัมพันธ์กันอย่างไร ? ฯลฯ.

ผมไม่ขอตอบคำถามข้างต้นนี้นะครับ แต่ตั้งไว้ให้พิจารณา กันเองตามแต่จะเห็นสมควร  

3. ที่ว่าการปฏิบัติธรรมในยุคหลังมีแนวโน้มหรือปฏิปทาในทางอาศัยสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลย  นั้นก็แสดงว่า การปฏิบัติธรรมในยุคพุทธกาลดั้งเดิมพระพุทธเจ้าสอนให้ทำสมาธิมากแล้วค่อยเจริญปัญญาหรืออย่างไร พระพุทธเจ้าสอนคนส่วนใหญ่แบบนี้จริงหรือ?  ทำไมในมรรค8 พระองค์เอาสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นเรื่องปัญญาขึ้นก่อน แล้วเอาสัมมาสมาธิอยู่ข้อสุดท้าย?

โดยส่วนตัวผมกลับเห็นว่า การสอนพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันเสียอีก ที่ส่วนใหญ่สอนคนให้ขยันทำสมาธิทำสติกันมาก สอนทั้งในเมืองไทย และในต่างประเทศ ที่จะสอนแบบทำสมาธินิดหน่อยแล้วเจริญปัญญาเลยมีน้อย  ผู้ที่จะสอนปัญญาได้ clear cut หาได้ยาก และชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจจะฝึก(บางแห่งอาจมีบ้างที่สอนในเชิงดูแคลนสมาธิ ทำนองถ้าทำสมาธิมากไปจะติดสมถะ หรือดูแคลนปัญญาในระดับความคิดธรรมดา)  ลองดูซิครับเราขาดบุคคลากรชาวพุทธที่ ฝึกหรือสอนทำสมาธิหรือไม่    ถ้าไม่ คำกล่าวที่ว่า ยุคนี้คนได้อภิญญากันน้อยเป็นผลมาจาก การปฏิบัติธรรมในยุคหลังมีแนวโน้มหรือปฏิปทาในทางอาศัยสมาธินิดหน่อย แล้วเจริญปัญญาเลยก็ ไม่ logic

 

ส่วนตำราจะว่ายุคนี้ยุคนั้นจะมีพระอริยเจ้ามากน้อย เป็น ปฏิสัมภิทา หรือ สุขขวิปัสสโก อะไร ๆ ขอยกไว้ก่อน ยังไม่ขออภิปรายเรื่องนี้เพราะจะยาวครับ ถ้าจะกล่าวก็เพียงสั้นๆก็เพียงว่า   สิ่งที่เขียนในตำราก็มิใช่สิ่งที่ควรเชื่อไปทั้งหมด

 คนมีปัญญาจริงๆ เขาจะไม่ประมาทดูแคลน สมาธิหรอกครับ เขาเข้าใจถึง ความสำคัญความจำเป็นของสมาธิ และเข้าใจข้อจำกัด และโทษของสมาธิด้วยถ้าสมาธิกลายเป็นบังเกอร์ของกิเลส

  อันที่จริงโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าทุกคนก็ชอบและอยากได้อภิญญาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเลือกได้ตามใจปรารถนา (รวมผมด้วย)   ลองพิจารณาความเห็นในมุมต่างดูนะครับ  คิดว่าเป็นอะไรสนุกๆ ก็แล้วกัน เจอแต่กระทู้หรือความเห็นอะไรๆ ที่เหมือนหรือคล้ายกันหมดผมว่ามันน่าเบื่อเหมือนกันนะครับ 
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
Dugong

Posts: 1 topics
Joined: 11/2/2553

ความคิดเห็นที่ 8  « on 15/2/2553 22:02:00 IP : 125.25.125.117 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 
ขออนุญาตตอบเป็นตัวอย่างแล้วกันนะครับ ในตำราที่เขียนพุทธประวัติไว้ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ตำราเขียนไว้ ว่าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นคนแก่ ก็ถามคนแก่ว่า ฉันนะ นั่นอะไร  นายฉันตอบว่า คนแก่พระย่ะค่ะ คนทุกคนเกิดมาต้องแก่อย่างนี้ คนเจ็บ คนตายก็ทำนองเดียวกัน ถามว่า การเขียนพุทธประวัติ ทำนองนี้น่าเชื่อถือหรือไม่ ......เจ้าชายสิทธัตถะ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นปัญญาธิกะ จะฉลาดน้อยอย่างนั้นเชียวหรือไม่รู้จักคนแก่ จะว่าพระราชบิดา จัดสภาพแวดล้อมให้พบเจอแต่คนหนุ่มสาว สวยงามก็ยังฟังไม่ขึ้น ถ้าจำประวัติได้  ครูคนแรกของพระสิทธัตถะคือใคร ตอบ วิศวามิตร ซึ่งก็เป็นคนแก่มิใช่หรือ นั่นหมายถึงว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ต้องรู้จักคนแก่  

เอาอีกตอน เรื่องพระพาหิยะ ที่ ฟังเทศพระพุทธเจ้าไม่กี่คำก็บรรลุอรหัตฯ ตำราว่า ขอบวชแต่ไม่มีจีวร เพราะไม่เคยทำบุญผ้าไว้ ระหว่างทางเลยถูกวัว ที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร ขวิดนิพพาน ถามว่า ผู้บำเพ็ญบารมีมาขนาดมีบารมีเต็มพอที่สำเร็จอรหันต์ บรรลุฉับพลัน จะไม่เคยทำบุญจีวรมาเลยจริงหรือ เหตุผลทำนองนี้น่าเชื่อถือหรือไม่ มองแย่หน่อยก็มองว่าเขียน เพื่อให้คนทำบุญผ้าจีวรกับพระสงฆ์มากๆ ก็มีสิทธิ์คิดได้

 ในตำราอีกเหมือนกัน (ไม่แน่ใจว่าพระไตรปิฏกหรืออรรถกถา) กล่าวทำนองว่ายุคนี้หมดสิ้นอรหันค์แล้ว ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่มีทาง ก็มีหลายท่านเชื่อถือ 

พระไตรปิฏกแต่ละประเทศก็จะมีสาระบางตอนต่างกัน อย่างพระไตรปิฏกประเทศลาว ประเทศไทย ประเทศพม่า ถ้าเราอ่านอะไรแบบไม่ฝึกนิสัยในการตั้งข้อสังเกต และวิเคราะห์ อะไรๆ ที่ว่าเป็นตำรา เป็นบาลี เป็นพระไตรปิฏก ก็เชื่อไปเสียทั้งหมด ด้วยอ้างเหตุผลเพียงว่า พระไตรปิฏกเป็นตัวแทนของคำสอน  ก็ถูกอยู่ครับ แต่จะเชื่อหรือคิด จะเชื่อของประเทศไหนดีล่ะ

หรือคำสอนของครูอาจารย์ก็เหมือนกัน ถ้าเชื่อ เพียงเพราะเป็นคำพูดของครูอาจารย์ที่น่าเชื่อถือ ก็เสี่ยงทำนองเดียวกัน (บางสำนักเอาบาปมาขู่ ทำนองว่าถ้าไม่เชื่อก็บาป) ผมไม่ได้บอกว่าตำราไม่น่าเชื่อถือทั้งหมด แต่ผู้อ่านก็ต้องกลั่นกรอง เพราะไม่ทราบว่า ผู้ร้อยเรียงสังคายนามาจนยุคนี้ปนความเห็นชองปุถุชนเข้าไปหรือไม่มากน้อยเพียงไร มีพระสูตรหนึ่งที่น่าศึกษาคือ กาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ พระองค์ทรงทราบว่าต่อไปในอนาคต พุทธบริษัทจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน (และจะแสดงตำราข้อมูลที่คลาดเคลื่อน) จึงแสดงหลักในเรื่องของความเชื่อไว้ในกาลามสูตร  10 ข้อ(ถ้าจำไม่ผิด)  มีข้อหนึ่ง คือ อย่าเชื่อเพียงเพราะเขียนไว้ตามตำรา ฯลฯ โดยสรุปพระพุทธองค์ประสงค์จะให้ ผู้รับข้อมูล ต้องใช้สติปัญญาวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูล เสียก่อน หากพิสูจน์จนรู้แจ้งแล้วเชื่อหรือสรุปได้ก็ยิ่งดี  ในความเห็นของผม แม้พระไตรปิฏก ก็ต้องอ่านด้วยวิจารณญาณ และหัดตั้งข้อสังเกต หรือข้อโต้แย้ง ก่อนจะตัดสินใจเขื่อ หรือไม่เขื่อ ถ้าไม่ฝึกนิสัยปัญญาให้ตัวเองแล้ว ก็อาจเสียใจภายหลังได้ง่าย คนเขียนตำรา หรือครูอาจารย์สำนักต่างๆ ก็บอกว่าสอนตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น ครับ ถ้าเราไม่มี filter ที่ดีคอยกลั่นกรอง ก็ยากครับ   ผมยังเห็นว่าพระไตรปิฎก ก็ยังใช้เป็นบรรทัดฐานได้ครับ แต่ก็มิใช่ ต้องเชื่อ 100% โดยไม่ใช้สติปัญญาส่วนตัว (กรุณาอย่ากล่าวหาว่าผมไม่เคารพ พระไตรปิฏกก็แล้วกัน) เหมือนที่ผมได้ลองตั้งข้อสังเกต ในกระทู้ที่ผ่านมา ที่แสดงเหตุผลแย้งเพื่อให้คิด ให้พิจารณา ก่อนจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ อะไร เพราะเรื่องเชื่อ เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะกำหนดทัศนะ และการกระทำของเรา ก็ลองพิจารณาดูนะครับ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมก็ได้ครับ ผมเชื่อว่าถ้าไม่ฝึกคิดก็ไม่เกิดปัญญาครับ

 

 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
Dugong

Posts: 1 topics
Joined: 11/2/2553

ความคิดเห็นที่ 9  « on 19/2/2553 17:10:00 IP : 202.44.7.47 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 
คุณ Pordeeee ครับ อย่าเพิ่งเข้าใจเลยเถิดไปขนาดว่าพระไตรปิฏกขาดความน่าเชื่อถือ ผมไม่ได้กล่าวอย่างนั้นนะครับ  โลกนี้ไม่ได้มีแต่สีขาวและสีดำ มันยังมีสีเทาอ่อน เทากลาง เทาเข้ม และอีกหลากหลายสี หลายสิ่งหลายอย่างอย่างมิได้ ผิดหรือถูก 100% ผมยังเชื่อว่า พระไตรปิฏก รวมถึงอรรถกถา หลายอย่างของเถรวาทเรา ยังใช้อ้างอิง เป็นแนวทาง ในหลักของพระพุทธศาสนาได้ ที่ได้ยกตัวอย่างไป เป็นรายละเอียดบางอย่างเพื่อให้เห็นภาพ ว่า ผู้อ่านจะต้องฝึกหรือสร้างปัญญาส่วนตัว เพื่อฝึกการใช้เหตุผลในการรับฟังข้อมูล ก่อนตัดสินใจ เชื่อ หรือไม่เชื่อ ในสิ่งใด  ไม่ได้ต้องการ discredit ตำราแต่อย่างใดผมเคยได้อ่านมาบ้างเหมือนกัน ในเรื่องของอนิจจังของพระพุทธศาสนาที่จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ที่พระพุทธองค์ทรงวางศาสนาไว้ว่าจะมีอายุราว 5,000 ปี  ผมได้เคยอ่านพอสรุปใจความได้ว่า ปฏิเวธจะเลือนหายไปก่อน หมายถึง ผู้ที่รู้จริงเห็นจริงก็คือพระอริยสาวก นั่นแหละ จะค่อยๆหมดไปก่อน ลำดับต่อไป ก็ ปฏิบัติจะหายไป คือคนพยายามปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่เกิดปฏิเวธ จึงท้อถอย ละเลิกการปฏิบัติ เหลือแต่หลักปริยัติ  ซึ่งคนจะสนใจน้อยลง จน เลือนหายไปหมดในที่สุด ผมยอมรับในเหตุผลตรงนี้นะครับ เมื่อพิจารณาในเหตุผลส่วนตัวว่า เหตุเริ่มต้นน่าจะมาจากคนเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าคลาดเคลื่อน หรือพระผู้เป็นครูอาจารย์สอนคลาดเคลื่อนจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกมีทิฏฐิ คือความเห็นไม่เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิ (เพราะไม่มีปัญญา ไม่ฝึกและไม่สร้างปัญญา)  แม้จะมีการปฏิบัติตามแนวทางคำสอนที่คลาดเคลื่อนนั้นเป็นจำนวนมาก และมีความพากเพียรอย่างเข้มแข็ง แต่การปฏิบัตินั้น ไม่เป็นไปในมรรคผลนิพพาน (แต่ยังเป็นบุญกุศล เป็นบารมีได้) ผลคือ ปฏิเวธ จักลดและเสื่อมหายไป (เพราะผู้มีสัมมาทิฏฐิมีส่วนน้อย ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิมิจฉาปฏิบัติมีส่วนมาก)... ส่วนในรายละเอียดว่า พระอริยเจ้าที่มีหรือไม่มีอภิญญาอย่างไหนจะหายไปก่อนไปหลังมิใช่ประเด็นสำคัญอะไรนักในทัศนะของผมครับ  รายละเอียดอื่นๆ ตำราก็ว่าไว้แล้ว ถามว่า ชาวพุทธควรจะเอาอะไรเป็นหลักเบื้องต้นในการศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์ก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว  แล้วอะไรหรือใครครับ ที่จะมาเป็นองค์แทนของพระองค์  ในการสืบทอดพระศาสนาอย่างถูกต้องมีหลักมีเกณฑ์  พระพุทธเจ้ามอบธรรมวินัย ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์  สืบทอดกันมาทางตำรา และบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม คือพระอริยสาวก ปัญหาคือ เราจะทราบอย่างไรว่า ตำราไหนพอเชื่อถือได้ ใครเป็นผู้มีคุณธรรมที่เราจะแสวงหาหรือเลือกเป็นครูอาจารย์เป็นตัวอย่าง  เราก็ต้องแสวงหาเอา ซึ่ง เบื้องต้นก็ต้องอาศัย ตำรา +ครูบาอาจารย์/กัลยาณมิตร+สติปัญญาเฉพาะตัว นั่นแหละเป็นเครื่องมือ ในการเลือกและแสวงหา อาศัยทั้งความรู้และสติปัญญา ถ้าโชคดีมีบุญวาสนา ก็จะได้พบหนทาง และครูอาจารย์หรือกัลยาณมิตรที่เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างถูกต้องที่จะอบรมให้เรา มีปัญญาเป็นส่วนตัว เป็นแสงสว่างเล็กๆ ส่วนตัวที่ส่องนำทางปฏิบัติไปได้ (พวกเรายังโชคดีนะครับที่เกิดในยุคนี้ที่พุทธศาสนายังมีครบทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ยังพอมีครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่ แม้จะไม่ทั่วถึงนักแต่ต่อไปสัก 50 หรือ 100 ปีข้างหน้า ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ) ปัญญาเป็นสิ่งที่ฝึกหรือสร้างให้เกิดให้มีได้ มนุษย์ทุกคนมีปัญญาอยู่แล้ว เพียงแต่ใช้ไปในทางโลก แต่ยังมิได้น้อมมาใช้ในทางธรรม  ในการฝึกใช้ปัญญาอย่าฝึกให้มีนิสัยประเภทมีความรู้ดีแต่ไม่มีความฉลาดทางปัญญา   เคยได้ยินไหมครับ คำที่ว่า การใช้ปัญญาอย่าเอาตามตำรา และอย่าทิ้งตำรา.     โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน ในที่เดียวกัน สติปัญญาเท่านั้น ที่จะแยกธรรมออกจากโลกได้สติปัญญาเท่านั้น ที่จะแยกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ (ถ้าเราขาดปัญญาแล้วเราจะแยกสิ่งถูกผิดที่ปนกันไม่ได้เลย) เราเป็นผู้เลือก ที่จะนับถือพระพุทธศาสนา (ศาสนาหรือลัทธิในโลกนี้มีมากมาย) เราเป็นผู้เลือกครูอาจารย์ว่าองค์นั้นๆ เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง สามารถเป็นตัวอย่างและให้คำแนะนำสั่งสอนที่ถูกต้องแก่เราได้  เราเป็นผู้เลือกในการศึกษาปริยัติหรือตำรา ว่าตำราใดน่าเชื่อถือ รวมถึงรายละเอียดในตำรานั้น ว่าเหตุผลใดน่าเชื่อถือ   เราเป็นผู้เลือก ว่า ตนจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพานตามจุดมุ่งหมายของตน   ดังนั้น ถ้าผิด ก็ต้องโทษเราที่เลือกผิดเอง มากกว่าไปโทษว่า คนนั้นคนนี้สอนผิด ตำราเขียนผิด เพื่อนชวนไปผิด ฯลฯ ดังนั้นก่อนเลือกอะไรๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้ดี เมื่อก่อน ผมก็ยังไม่ซึ่งถึงความสำคัญของการฝึกความคิด ฝึกสติปัญญาส่วนตัว มีความเข้าใจ (เหมือนคนจำนวนมาก)  ว่า ปฏิบัติธรรม ก็คือมานั่งหลับตาทำสมาธิ มารักษาศีล  ใครทำสมาธิได้มากได้สงบได้ลึก หรือรู้นั่นเห็นนี่ ก็คือการปฏิบัติธรรมที่ .ได้ผลตอนนั้น ยังไม่เคยคิดไม่เคยศึกษาหลักเลยว่า พระพุทธเจ้าต้องการสอนอะไร หรือสื่อความอะไรกับพุทธบริษัท ยังไม่เคย ฝึกแนวความคิด หรือฝึกสติปัญญาเพื่อแยกถูกผิดอะไรเลย ไม่เคยดูตัวเองว่า เรามีนิสัยอย่างไร มีความพร้อมแค่ไหน  ไม่เคยคิดเลยว่า ธรรมมีกี่ขั้นตอน ควรเอาขั้นตอนไหนมาปฏิบัติก่อน ปฏิบัติหลัง ฯลฯ มองย้อนกลับไปก็พบว่าความโง่ของตนเองมีมากมายแถมยังไม่รู้ตัวอีกต่างหาก (วันนี้ก็ยังไม่หมดโง่เลยครับ)  ประเด็นที่อยากสื่อก็คือ ปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องฝึก จึงจะเกิดขึ้นได้  สุตมยปัญญา คือปัญญาในขั้นศึกษา การอ่าน การฟังจาก ผู้รู้ เราก็ต้องศึกษากันไป เรียกว่าปัญญาในภาคปริยัติหรือความรู้ก็ได้  จินตมยปัญญา คือการฝึกปัญญาในขั้นความคิด การวิเคราะห์วิจัย ตั้งคำถาม ตีความ ปัญญาตัวนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการปฏิบัติของเรา เป็นตัวที่อยากจะเน้นที่สุด เป็นปัญญาที่เราต้องฝึกฝนและช่วยเหลือตนเองให้มาก เพราะปัญญาขั้นความคิดนี้เป็นปัญญาในภาคปฏิบัติ การฝึกปัญญาในขั้นนี้ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิก่อนเสมอไป เพียงมีความตั้งใจคิดตั้งใจพิจารณาก็เพียงพอ สำหรับสมาธิก็ทำกันไป(ไม่ได้ห้าม) พิจารณาเอาว่ากาลใดควรทำสมาธิพักใจ กาลใดควรฝึกปัญญา ใครจะทำสมาธิมากน้อย หยาบละเอียดก็ให้เป็นไปตามนิสัยของแต่ละท่าน  (ใครจะเป็นอภิญญาหรือไม่อย่างไรก็จะเป็นไปตามนิสัยปัจจัยของแต่ละคน )  ขอย้ำว่าสมาธิก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ เพราะสมาธิจะเป็นตัวเสริมหนุนปัญญา ถ้าปัญญาดีแล้วการทำสมาธิก็จะเป็นผลดี สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวแปรว่าสมาธินั้นจะเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่ก็คือ ความเห็น ถ้าใจยังมีความเห็นผิดอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข (ด้วยปัญญา) สมาธิที่ได้จะกลายเป็นกำลังของความเห็นผิด หรือเป็นบังเกอร์ของกิเลสตัณหาโดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งถ้ามีอภิญญามาร่วมแจมด้วยก็จะยิ่งหลงผิดลึกยิ่งขึ้นจนยากจะแก้ไข หรือแก้ไม่ได้เลยในชาตินี้  สมาธิที่มีปัญญาที่ดีกำกับจึงจะไปสู่สัมมาสมาธิได้   นี่คือเหตุผลว่า ทำไมใน มรรค 8พระพุทธองค์จึงทรงวาง  สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปปะ ความดำริพิจารณาชอบ (ซึ่งเป็นหมวดปัญญา) ขึ้นก่อนมรรคข้ออื่น ก็เนื่องจากการปฏิบัติที่มีปัญญาความเห็นชอบกำกับดูแล จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจหนทางด้วยปัญญาเฉพาะตน และจะไม่เกิดปัญหาภายหลัง ปัญญาจะกำกับการรักษาศีล และกำกับการทำสมาธิ  สำหรับปัญญาขั้นสุดท้าย ภาวนามยปัญญา หรือวิปัสสนาญาณ หรือจะเรียกอะไรก็ตามแต่ เป็นปัญญาสุดท้ายในขั้นปฏิเวธ ครูอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นผลของการปฏิบัติทั้งในส่วนของปัญญา ศีล สมาธิ ตามที่กล่าวมาแล้วโดยย่อทั้งหมด ผู้ที่ได้ปัญญาขั้นนี้จะเป็นปุถุชนอยู่ไม่นาน จะได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งตามแต่วาสนาบารมีท่านนั้น ปัญญาขั้นนี้ทุกคนอยากไปถึง   ปัญญาขั้นนี้ลำพังการทำสมาธิเพียงอย่างเดียว 100กัปป์พันกัลป์ ปัญญาในขั้นนี้ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นแต่อย่างใด  ในยุคนี้มีคนจำนวนมาก ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้พิจารณา เข้าใจผิดว่า ทำสมาธิถึงแล้วปัญญาจะเกิดเอง เหมือนแสงสว่างวาบขึ้นมาแล้วปัญญานั้นก็จะไปละกิเลสตัณหาต่างๆ ได้เป็นพระอริยเจ้าฟรีๆ เป็นต้น เรื่อง ปัญญา เป็นจุดเด่นของพระพุทธศาสนา ปัญญาในพระพุทธศาสนานี้ ไม่มีศาสนาใดเลียนแบบได้ (ศีล สมาธิ ข้อวัตรต่างๆ ยังเลียนแบบได้ บางศาสนาอาจดูเคร่งครัดกว่าด้วยซ้ำ) เราในฐานะผู้สนใจพุทธศาสนา จึงควรให้ความสำคัญของการฝึกปัญญาให้มากมากขึ้น เพื่อเป็นแสงสว่างแก่ตนเอง นอกเหนือจากการรักษาศีล และการทำสมาธิ ดังที่กล่าวมาแล้ว  จึงขอให้ลองพิจารณาดูนะครับ 
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
pordeeee

Posts: 0 topics
Joined: none

ความคิดเห็นที่ 10  « on 22/2/2553 11:53:00 IP : 58.8.167.221 »   
Re: หมดยุคอภิญญา
 
ได้อ่านข้อความของคุณ Dugong แล้วรู้สึกน่าสนใจมากครับแต่อ่านบางตอนแล้วมีข้อสงสัยอยากจะขอความเห็น เพื่อเป็นความรู้ครับ จากข้อความของคุณ Dugdoon ที่ว่า ส่วนตำราจะว่ายุคนี้ยุคนั้นจะมีพระอริยเจ้ามากน้อย เป็น ปฏิสัมภิทา หรือ สุขขวิปัสสโก อะไร ๆ ขอยกไว้ก่อน ยังไม่ขออภิปรายเรื่องนี้เพราะจะยาวครับ ถ้าจะกล่าวก็เพียงสั้นๆก็เพียงว่า สิ่งที่เขียนในตำราก็มิใช่สิ่งที่ควรเชื่อไปทั้งหมดอยากจะรบกวนเรียนถามถึงคำว่า ตำรา ที่คุณ Dugong ว่านั้น หมายความถึง พระไตรปิฏก ใช่ไหมครับ  เพราะผมก็ได้อ่านได้ศึกษาพระไตรปิฏกมาบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ได้อ่านพบพุทธทำนายเกี่ยวกับการค่อยๆหายไปของพระอรหันต์ที่มีอภิญญามากๆ จริง จนกระทั่งพระสงฆ์ในยุคปลายๆของพระศาสนก็จะมีเพียงแค่ผ้าเหลืองห้อยอยู่ที่หู (และผมก็เคยได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์หลายๆท่านเช่นกัน) จาก comment ของคุณ Dugong ข้างต้น ถ้าพระไตรปิฏกขาดความน่าเชื่อถือ ตามที่ว่าจริง แล้วชาวพุทธควรจะเอาอะไรเป็นหลักเบื้องต้นในการศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์ก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว  แล้วอะไรหรือใครครับ ที่จะมาเป็นองค์แทนของพระองค์  ในการสืบทอดพระศาสนาอย่างถูกต้องมีหลักมีเกณฑ์
 
   Link to Post - Back to Top

Bookmark and Share
 
1
2
>
กรุณาเข้าสู่ระบบหรือสมัครสมาชิกก่อนโพสข้อความค่ะ
»
คลิ๊กที่นี่
   Main webboard   »   ธรรมะทั่วไป
 ย้อนกลับ  |  ตั้งกระทู้ใหม่  



Online: 9 Visits: 16,614,430 Today: 6,010 PageView/Month: 85,889